Color Gamut สำคัญไฉน ตัดสินอย่างไร ทำไมเวลาเลือกใช้อุปกรณ์แสดงผลต้องรู้

                สีเป็นสิ่งที่เรามองเห็น โดยอาศัยการรับรู้ช่วงความถี่ของแสงในธรรมชาติที่สะท้อนจากวัตถุมายังดวงตาของเรา แต่ด้วยความที่ความสามารถในการรับรู้ของแต่ละคนนั้นต่างกัน อีกทั้งสียังมีความแตกต่างกันในเรื่องของเฉด ความอิ่มตัว ความสว่าง รวมไปถึงความมันวาว ดังนั้นหากคนหนึ่งมองเห็นเป็นสีน้ำเงิน อีกคนหนึ่งอาจจะมองเห็นเป็นสีม่วงก็ได้

                แน่นอนว่าสีต่างๆ มนุษย์เรามองเห็นได้ด้วยตาเปล่านั้นมีอยู่มากมาย แต่จนถึงเวลานี้อุปกรณ์แสดงผลที่เราคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นจอภาพ หรือว่าโปรเจ็คเตอร์ก็ยังมีข้อจำกัดและไม่สามารถแสดงสีเหล่านั้นได้ทั้งหมด ดังนั้นเพื่อให้เป็นกรอบปฏิบัติ และอธิบายขีดความสามารถในการแสดงเฉดสีของอุปกรณ์แสดงผลต่างๆ ได้อย่างไม่มีการขัดแย้งกัน จึงได้มีการนำมาตรฐานต่างๆ ภายใต้คำว่า Color Gamut มาใช้ในการอ้างอิง

 

ขอบเขตของสีที่แสดงออกมาได้

                Color Gamut ที่ว่านี้ เป็นสิ่งที่อธิบายถึงขอบเขตของสีหรือพื้นที่สีภายในสเปคตรัมของสีทั้งหมด ที่อุปกรณ์แสดงผล สามารถแสดงออกมาได้ ส่วนจะกว้าง หรือถ่ายทอดสีออกได้มากน้อยขนาดไหน ขึ้นอยู่กับความสามารถของอุปกรณ์นั้นๆ และมาตรฐานที่นำมาใช้อ้างอิง ยกตัวอย่างเช่นในขณะที่จอภาพรุ่นหนึ่งแสดงผลได้ 16.7 ล้านสีโดยใช้หน้าจอ 8 บิตในระบบสี RGB ส่วนจอภาพอีกรุ่นอาจแสดงผลได้ถึง 1.07 พันล้านสีจากการใช้หน้าจอ 10 บิตก็ได้

                แน่นอนว่า การที่จอภาพแสดงเฉดสีได้มากๆ นั้นเป็นเรื่องดี แต่ในที่นี้ก็ต้องพิจรณาประกอบด้วยว่า สีต่างๆ ที่จอภาพแสดงออกมานั้นมีความถูกต้องครอบคลุมช่วงสีตามมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งโดยทั่วไปผู้ใช้สามารถตรวจสอบได้ง่ายๆ จากตัวเลขเปอร์เซ็นต์ที่ผู้ผลิตอธิบาย โดยอ้างอิงประกอบกับมาตรฐาน ยกตัวอย่างเช่น sRGB 100% ซึ่งในกรณีนี้หมายความว่า จอภาพสามารถแสดงสีตามมาตรฐาน sRGB ได้ครบทั้งหมด แต่ไม่ใช่ 100% ก็หมายความว่ายังมีสีอีกจำนวนหนึ่งที่อาจจะผิดเพี้ยนไปจากมาตรฐาน

                อย่างไรก็ตาม ขอบเขตสีที่กว้างและครอบคลุม 100% ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า สีที่จอภาพนั้นๆ แสดงออกมามีความถูกต้องแม่นยำเสมอไป เพราะในกรณีนี้จะต้องลงรายละเอียดไปถึงระดับ Delta E ที่ได้จากการวัดค่าสีที่แสดงผล เปรียบเทียบกับค่าสีมาตรฐานต้นฉบับโดยตรง

ขอบเขตสีมาตรฐานต่างๆ ที่ควรรู้

                Color Gamut หรือขอบเขตสีมาตรฐานต่างๆ ที่จอภาพหรือโปรเจ็กเตอร์สามารถแสดงผลได้นั้น โดยส่วนใหญ่มักจะถูกแสดงในรูปแบบของภาพไดอะแกรมสี CIE 1931 ที่มีลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยมบนแกน XY ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามมาตรฐานและแน่นอนว่า วัตถุประสงค์หรือความเหมาะสมในการใช้งานของสีแต่ละมาตรฐานก็แตกต่างกันด้วย

                sRGB

                เป็นขอบเขตสีที่ HP และไมโครซอฟท์ร่วมกันพัฒนาขึ้นมาใช้งานกับจอภาพ เครื่องพิมพ์ รวมถึงเว็บไซต์ ก่อนจะถูกประกาศใช้เป็นมาตรฐานโดย IEC ในปี 1999 เป็นมาตรฐานการแสดงสีที่พบเห็นได้ทั่วไปและมีการใช้งานแพร่หลายมากที่สุด ซึ่งการแสดงเฉดสีของจอแสดงผลต่างๆ ที่มีวางจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ครอบคลุมเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

                Adobe RGB

                เป็นมาตรฐานสีที่ถูกออกแบบมาทดแทน sRGB โดยมีขอบเขตสีที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะเฉดสีฟ้าและสีเขียว รวมทั้งสีเหลืองและสีส้มด้วยบางส่วน สำหรับใช้งานด้านการพิมพพ์ การออกแบบกราฟิกและการถ่ายภาพ เนื่องจากการแสดงเฉดสีของ Adobe RGB ครอบคลุมระบบสี CMYK ทั้งหมด หรือคิดเป็นพื้นที่สีประมาณ 52 เปอร์เซ็นต์ของสีทั้งหมดที่มนุษย์มองเห็นได้ตามที่ CIELAB กำหนด ในขณะที่มาตรฐาน sRGB ครอบคลุมสีทั้งหมดได้เพียง 35 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

                DCI-P3

                Digital Cinema Initiatives - Protocol 3 เป็นมาตรฐานสีที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยมีเฉดสีที่ครอบคลุมกว่า sRGB ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ หรือครอบคลุมสีที่ตามองเห็นตามที่ CIELAB กำหนดประมาณ 53 เปอร์เซ็นต์ และถึงแม้จะมีขนาดขอบเขตสีที่ใกล้เคียงกับ Adobe RGB แต่เฉดสีเขียวและสีแดงจะแตกต่างกัน (Adobe RGB จะครอบคลุมสีเขียวมากกว่า แต่ DCI-P3 จะมีเฉดสีแดงที่มากกว่า) ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีนั้น DCI-P3 มักจะถูกใช้กับโรงภาพยนตร์เป็นหลัก แต่ปัจจุบันนี้สามารถพบได้ทั่วไปและใช้งานอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในอุปกรณ์สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต รวมไปถึงโทรทัศน์และโปรเจ็กเตอร์ด้วย

                NTSC

                คณะกรรมการมาตรฐานโทรทัศน์แห่งชาติ (The National Television Standards Committee) ได้สร้างมาตรฐานสีนี้ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นมาตรฐานการแสดงผลของโทรทัศน์ โดยมีขอบเขตสีที่กว้างใกล้เคียงกับ Adobe RGB แต่เฉดสีแดงกับสีน้ำเงินจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ดีมาตรฐานนี้ก็ไม่ได้มีความแพร่หลายมากนัก เพราะโดยมากมักจะพบได้กับจอภาพสำหรับการใช้งานระดับมืออาชีพจริงๆ

                Rec.709 และ Rec.2020

            เป็นมาตรฐานที่ถูกพัฒนาขึ้นมาสำหรับการเข้ารหัสภาพและสัญญาณโทรทัศน์ HDTV ขอบเขตสีของมาตรฐานนี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจาก sRGB มากนัก แต่สำหรับ Rec.2020 ที่พัฒนาออกมาใหม่สำหรับใช้ในโทรทัศน์ UHDTV นั้นจะมีขอบเขตสีที่กว้างขึ้นมาก โดยครอบคลุมสีที่ตามนุษย์มองเห็นถึงกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ นั่นคือครอบคลุมเฉดสีมาตรฐานต่างๆ ดังที่กล่าวมาทั้งหมด

เลือกขอบเขตสีที่กว้างที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้

                จากรายละเอียดต่างๆ ดังที่ได้อธิบายมา ตอนนี้คุณน่าจะพอความเข้าใจรายละเอียดเกี่ยวกับ Color Gamut และรู้ว่ามาตรฐานสีต่างๆ ที่ถูกอ้างถึงในปัจจุบันนั้นเหมาะกับการใช้งานลักษณะไหนบ้าง ดังนั้นการเลือกใช้อุปกรณ์แสดงผลที่เหมาะสมจึงไม่น่าจะเป็นเรื่องยากอีกต่อไป เพียงแต่อาจจะมีคำถามหลงเหลืออยู่บ้างว่า จะตัดสินเลือกอุปกรณ์ไหนเท่านั้นเอง ซึ่งแน่นอนว่าคำตอบนี้ง่ายมาก นั่นคือเลือกอุปกรณ์ที่สามารถแสดงสีได้ครอบคลุมมาตรฐานที่เหมาะกับการใช้งานมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้นั่นเอง

                แต่อย่างไรก็ตามพึงระลึกไว้เสมอว่า Color Gamut ไม่ได้เป็นสิ่งที่บ่งบอก หรือชี้วัดคุณภาพของการแสดงผลเสมอไป เพราะยังมีปัจจัยอีกมากมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสม่ำเสมอ (Uniformity) หรือถูกต้องความแม่นยำของสีที่แสดงออกมา (ค่า Delta E) และการแสดงสีที่มากกว่าก็มักจะหมายถึงการพึ่งส่วนประกอบฮาร์ดแวร์ที่ล้ำหน้ากว่าเสมอ

 

 

รายละเอียดเพิ่มเติม...https://www.eizo.com/library/basics/lcd_monitor_color_gamut


TECH INSIGHT