การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่ทำให้ Wi-Fi มาตรฐานต่อไป เร็วแรงสะใจกว่าเดิม 3 เท่า

                “Wi-Fi” เทคโนโลยีการเชื่อมต่อไร้สายที่เราคุ้นชินกันที่สุด วันนี้ได้พัฒนามาถึงจุดที่เรียกได้ว่า ตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้ได้อย่างชนิดที่เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีอะไรตกหล่น โดยเฉพาะหลังจากที่ Wi-Fi Alliance ได้ออกมาตรฐาน IEEE 802.11ax หรือ Wi-Fi 6 ออกมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2019 ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา เราเตอร์ Access Point โน้ตบุ๊ก รวมไปถึงสมาร์ทโฟนต่างก็รองรับการเชื่อมต่อด้วยมาตรฐานนี้ทั้งนั้น และแน่นอนว่าการเชื่อมต่อด้วย Wi-Fi จะตอบโจทย์การใช้งานมากยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อมี Wi-Fi 7 ออกมา

                Wi-Fi 7 ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อไร้สายมาตรฐานต่อไปภายใต้ชื่อ IEEE 802.11be แม้ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงการพัฒนา แต่ก็มีการคาดการณ์ว่าจะได้รับการประกาศออกมาใช้งานภายในปี 2024 หรืออีกประมาณ 2 ปีนับจากนี้ โดย Wi-Fi Alliance มุ่งหวังที่จะให้ส่งผ่านข้อมูลแบบไร้สายทำได้เร็วกว่า 30Gb/s และมี Latency ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้เหมาะสำหรับการนำไปใช้กับแอปพลิเคชันที่ต้องการการตอบสนองที่รวดเร็วแบบทันที ทั้งในอุตสาหกรรม IoT, ระบบเสมือนจริง (AR/VR), ระบบอัตโนมัติของรถยนต์, ระบบ Real-Time Collaboration, เกมออนไลน์, การประชุมทางไกล รวมไปถึงระบบ Interactive ต่างๆ

 

การปรับปรุงที่สำคัญของ Wi-Fi 7

                แม้ว่าการพัฒนา Wi-Fi7 จะยังคงใช้พื้นฐานจาก Wi-Fi 6 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (รวมทั้ง Wi-Fi 6E) แต่ Wi-Fi มาตรฐานใหม่นี้ก็มีเทคโนโลยีใหม่ๆ และได้รับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างในส่วนของชั้นกายภาพ (Physical layer) และชั้น MAC layer อย่างมากมาย และรายละเอียดต่อไปนี้ก็คือคุณสมบัติใหม่ๆ โดยสังเขปที่ทำให้ Wi-Fi 7 แตกต่างไปจาก Wi-Fi 6 ที่เราใช้อย่างสิ้นเชิง

                โดยพื้นฐานแล้ว Wi-Fi 7 ยังคงทำงานด้วยการใช้คลื่นความถี่ 2.4, 5.0 และ 6GHz เช่นเดียวกับ Wi-Fi 6 แต่เพื่อให้ส่งผ่านข้อมูลได้อย่างรวดเร็วตามที่มุ่งหวัง จึงได้มีการปรับปรุงที่สำคัญ 3 ด้านที่สำคัญได้แก่

                1. ขนาดช่องสัญญาณกว้างขึ้น

                ในขณะที่ Wi-Fi 6 ใช้ช่องสัญญาณได้กว้างที่สุด 160MHz (80+80MHz หรือ 160MHz) แต่ใน Wi-Fi 7 สามารถใช้ขนาดช่องสัญญาณได้กว้างสุดถึง 320MHz และเลือกได้ทั้งแบบต่อเนื่อง 320MHz และไม่ต่อเนื่อง 160MHz+160MHz นอกจากนี้ยังมาพร้อมกับเทคนิคที่มีชื่อว่า Puncturing สำหรับป้องกันการรบกวนกันของสัญญาณในช่องที่ไม่ได้ถูกใช้ด้วย แต่อย่างไรก็ดีช่องสัญญาณขนาด 320MHz นี้จะจำกัดการใช้งานอยู่เฉพาะคลื่น 6GHz เท่านั้น

                นอกจากมีช่องสัญญาณที่กว้างขึ้นแล้ว Wi-Fi 7 ยังได้มีการนำเทคโนโลยี Multi-Link Operation (MLO) มาใช้ด้วย โดยเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้อุปกรณ์สามารถรับส่งข้อมูลด้วยคลื่นความถี่ต่างๆ ได้พร้อมกันได้ในการเชื่อมต่อเดียว (Single Aggregated Connection) ยกตัวอย่างเช่นส่งผ่านข้อมูลช่องสัญญาณกว้าง 320MHz บนความถี่ 6GHz กับ 160MHz บนความถี่ 5GHz ไปยังอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ ซึ่งเทคโนโลยีนี้นอกจากจะช่วยทำให้ส่งผ่านข้อมูลได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังช่วยลด Latency ที่เกิดขึ้นด้วย

                2. Modulation Order (QAM) ดีกว่าเดิม

                ตั้งแต่ Wi-Fi 5 หรือมาตรฐาน IEEE 802.11ac เป็นต้นมา การส่งผ่านข้อมูลด้วย Wi-Fi จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเข้ารหัสข้อมูลด้วย Quadrature Amplitude Modulation (QAM) โดยเริ่มจาก 256-QAM 8 บิตแล้วพัฒนาต่อมาเป็น 1024-QAM 10 บิตเมื่อเป็น Wi-Fi 6/6E แต่ในกรณีของ Wi-Fi 7 นั้นจะรองรับได้มากถึง 4096-QAM และเป็นแบบ 12 บิต ซึ่งจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นนี้ทำให้ Wi-Fi 7 Modulation ปรับสัญญาณได้ดีขึ้นอีกประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์

                3. Spatial Streams จำนวนมากขึ้น

                Spatial Streams หรือจำนวนข้อมูลที่ส่งออกไปพร้อมๆ กัน โดยผ่านเสาอากาศ คือหนึ่งในกุญแจสำคัญที่ทำให้ Wi-Fi ส่งผ่านข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเทคโนโลยี MU-MIMO ของ Wi-Fi 6 มาตรฐาน 80211ax ในปัจจุบันก็รองรับได้สูงสุด 8 Streams แต่สำหรับ Wi-Fi 7จะรองรับได้มากถึง 16 Streams ซึ่งนั่นทำให้เราเตอร์หรือ Access Point ที่ใช้มาตรฐานใหม่นี้จะรองรับการใช้งานของอุปกรณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้นมาก

                นอกจากการปรับปรุงข้างต้นแล้ว ภายใน Wi-Fi 7 ยังได้มีการปรับปรุง OFDMA (Orthogonal Frequency-Division Multiple Access) ให้รับส่งข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพและลด Latency ให้ต่ำลงโดยมีการจัดการ MRUs (Multiple Resource Units) ที่ดีขึ้น เพิ่มความสามารถในการร่วมกันระหว่าง Access Point ในขณะที่คุณสมบัติเดิมๆ อย่าง Target Wake Time หรือ TWT ที่มีอยู่ใน Wi-Fi 6 ก็ยังคงมีให้ใช้เช่นเดิม

                อย่างไรก็ตามไม่ว่า Wi-Fi 7 จะได้รับการปรับปรุงให้ส่งผ่านข้อมูลได้เร็วขนาดไหน หรือมีประสิทธิภาพดีขึ้นเพียงใด มันก็ยังต้องรอไปอีก 2-3 ปีกว่าที่จะมีอุปกรณ์ออกมาให้ใช้งาน แต่ถึงอย่างนั่นก็มั่นใจได้เลยว่า การเชื่อมต่อ Wi-Fi ของเราในอนาคตอันใกล้นี้ จะดีขึ้นอย่างแน่นอน

 

รายละเอียดเพิ่มเติม...https://www.wi-fi.org/


TECH INSIGHT