ฟอร์แมตไดรฟ์ ใครๆ ก็ทำได้ แต่เพื่อความมั่นใจ ต้องเข้าใจ 3 สิ่งนี้ก่อน
14/08/2024

                ขึ้นชื่อว่าเป็นสื่อบันทึกที่ใช้จัดเก็บข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดดิสก์ แฟลชไดรฟ์หรือการ์ดหน่วยความจำ ก่อนที่เราจะนำอุปกรณ์เหล่านี้ไปใช้งานได้ จะต้องมีการจัดการรูปแบบพื้นที่ที่ใช้บันทึกข้อมูลโดยผ่านกระบวนการที่เรียกว่า การฟอร์แมตให้เรียบร้อยก่อน แต่อย่างไรกระบวนการนี้ผู้ผลิตก็มักจะทำมาให้แล้ว ดังนั้นหลังจากที่ซื้อมาใหม่ๆ เราสามารถนำไปใช้บันทึกข้อมูลได้เลย

                นอกจากเป็นการเตรียมพื้นที่ให้พร้อมสำหรับบันทึกข้อมูลแล้ว การฟอร์แม็ต (ไดรฟ์) ก็ยังเป็นวิธีที่สามารถทำได้ง่ายๆ โดยถ้าเป็นฮาร์ดดิสก์แบบพกพา หรือแฟลชไดรฟ์ USB ที่ใช้งานกับเครื่องพีซีที่เป็นระบบ Windows เมื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์กับเครื่องแล้ว สามารถเปิด Windows Explorer แล้วเลือกคำสั่ง Format… โดยคลิกขวาที่ไดรฟ์ที่ต้องการฟอร์แมตได้ทันทีเลย ส่วนใครที่ใช้เครื่องแมค ก็เพียงแค่ให้เข้าไปที่ Finder แล้วเลือก Application> Utilities> Disk Utility จากนั้นเลือกฮาร์ดดิสก์หรือไดรฟ์ที่ต้องการฟอร์แมต แล้วเลือกที่เมนู Erase เพื่อเริ่มฟอร์แมตไดรฟ์ตามที่ต้องการ

 

ระบบไฟล์ที่เหมาะสำหรับการใช้งาน

                การฟอร์แม็ตไดรฟ์ แม้จะดูว่าเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำได้ แต่ก่อนที่จะเริ่มทำการฟอร์แมตไดรฟ์หรืออุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลใดๆ จะต้องรู้จักและทำความเข้าใจเรื่องระบบไฟล์ NTFS, FAT, FAT32, exFAT และอื่นๆ ที่มีให้ดีก่อน ว่าควรเลือกใช้แบบใดถึงจะเหมาะสม หรือต้องเลือกแบบใดถึงจะไม่ทำให้มีความยุ่งยากตามมา

                NTFS เป็นระบบไฟล์มาตรฐาน สำหรับการใช้งานไดรฟ์บันทึกข้อมูลกับเครื่องพีซีที่เป็นระบบปฏิบัติการ Windows และมันก็เป็นตัวเลือกที่ดีกว่าระบบไฟล์แบบ FAT หรือ FAT32 ตรงที่ ไดรฟ์ที่ฟอร์แมตโดยใช้ระบบไฟล์นี้จะบันทึกไฟล์ที่มีขนาดใหญ่กว่า 4GB ได้ และไม่มีข้อจำกัดเรื่องขนาดพาร์ทิชัน นอกจากนี้ยังกำหนดสิทธิ์การเข้าถึงไฟล์ได้ สามารถบีบอัดข้อมูลได้ พื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็มีน้อยและข้อมูลที่บันทึกก็ไม่ค่อยกระจัดกระจาย

                แต่อย่างไรก็ดีการฟอร์แมตไดรฟ์โดยเลือกใช้ระบบไฟล์นี้ ก็มีข้อควรระวังที่สำคัญคือ หากต้องการนำไดรฟ์ไปใช้กับระบบปฏิบัติการอื่น อย่างเช่นเครื่องแมคเราจะไม่สามารถเขียนข้อมูลลงไปได้ เว้นเสียแต่ว่าจะมีโปรแกรมหรือใช้เครื่องมือช่วยบันทึก แต่ถ้าฟอร์แมตมาโดยใช้ระบบไฟล์แบบ FAT หรือ FAT32 ไดรฟ์สามารถกับเครื่องแมคได้อย่างไม่มีปัญหา เว้นเสียแต่ว่าจะใช้บันทึกไฟล์ที่มีขนาดใหญ่กว่า 4GB ซึ่งในกรณีนี้การฟอร์แม็ตโดยเลือกใช้ระบบไฟล์ exFAT จึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด

                กล่าวโดยสรุปก็คือ ถ้าเป็นฮาร์ดดิสก์แบบพกพา ควรฟอร์แมตโดยใช้ระบบไฟล์ NTFS แต่ถ้าต้องการนำไปใช้งานกับเครื่องแมคด้วย ก็ให้ฟอร์แม็ตโดยใช้ระบบไฟล์ exFAT ส่วนในกรณีที่เป็นแฟลชไดรฟ์ USB ให้ดูที่ความจุของไดรฟ์ว่ามากกว่า32GB หรือไม่ และต้องการใช้บันทึกไฟล์ที่มีขนาดใหญ่กว่า 4GB ด้วยหรือเปล่า ซึ่งถ้าใช่ก็ให้ใช้ระบบไฟล์ exFAT ส่วน FAT32 นั้นเก็บไว้เป็นตัวเลือกสุดท้ายสำหรับใช้กับเครื่องแมคที่ใช้ระบบปฏิบัติการ MacOS X เวอร์ชันต่ำกว่า 10.6.5 (Snow Leopard) ดีกว่า

 

การจัดสรรขนาดคลัสเตอร์

                 โดยปกติไดรฟ์จะบันทึกข้อมูลต่างๆ ลงในพื้นที่ว่าง ซึ่งถูกแบ่งเป็นคลัสเตอร์ (Clusters) และการจัดสรรขนาดพื้นที่นี้ก็คือ ขนาดคลัสเตอร์ที่เราจะกำหนดให้ใช้สำหรับการบันทึกข้อมูลนั่นเอง ซึ่งถ้าคลัสเตอร์มีขนาดเล็กก็จะใช้พื้นที่บันทึกข้อมูลได้อย่างคุ้มค่า แต่ก็จะส่งผลให้ไดรฟ์ทำงานได้ช้าลง เพราะจะต้องมีการแบ่งข้อมูลให้มีขนาดตามคลัสเตอร์เป็นจำนวนมากก่อนที่จะบันทึกลงไป แต่ถ้าใช้คลัสเตอร์ขนาดใหญ่ขึ้นการแบ่งข้อมูลก็จะน้อยลง แต่ก็จะทำให้พื้นที่ของคลัสเตอร์จำนวนมากไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ เพราะเมื่อจะบันทึกข้อมูลใหม่ ไดรฟ์จะเลือกใช้คลัสเตอร์ที่ไม่มีข้อมูลใดๆ บันทึกอยู่เท่านั้น

                 ควรกำหนดใช้ขนาดเท่าใด? โดยปกติการจัดสรรขนาดพื้นที่นี้จะขึ้นอยู่กับความจุของไดรฟ์และระบบไฟล์ที่ใช้เป็นสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นระบบไฟล์ NTFS จะกำหนดให้ใช้ขนาด 4K กับไดรฟ์ความจุไม่เกิน 16TB ส่วนระบบไฟล์ FAT32 นั้นถ้าไดรฟ์มีความจุตั้งแต่16-32GB จะกำหนดให้มีขนาด 16KB หรือถ้ามีพื้นที่ 8-16GB ก็จะใช้ขนาดเล็กลงเป็น 8KB ส่วนระบบไฟล์แบบ exFAT ถ้าไดรฟ์มีความจุไม่เกิน 32GB จะใช้ขนาด 32KB แต่ถ้าพื้นที่มากกว่านี้ก็จะใช้ขนาด 128KB

 

Quick Format ไม่มั่นใจไม่ควรเลือก

                 การฟอร์แมตไดรฟ์อย่างเต็มรูปแบบนั้น นอกจากจะเป็นการเตรียมพื้นที่บันทึกข้อมูลด้วยการลบไฟล์ดัชนีของไดรฟ์อย่างเช่น MTF (Master File Table) แล้ว ยังมีการค้นหาพื้นที่บันทึกข้อมูลที่มีปัญหาให้ด้วย ดังนั้นการฟอร์แมตแบบนี้จึงใช้เวลาค่อนข้างนาน โดยเฉพาะกับไดรฟ์ที่มีความจุมากๆ แต่ถ้าเลือก Quick Format การเตรียมพื้นที่บันทึกข้อมูลของไดรฟ์จะทำเพียงแค่ลบตำแหน่งที่อยู่ของข้อมูลที่บันทึกอยู่เท่านั้น ถ้ามั่นใจว่าไดรฟ์ยังสามารถบันทึกข้อมูลได้อย่างไม่มีปัญหา ตัวเลือกนี้จะช่วยประหยัดเวลาได้มาก แต่ถ้าไม่มั่นใจก็ควรหลีกเลี่ยง เพราะหากไดรฟ์มีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย การบันทึกข้อมูลทับลงไปอาจทำ ให้มีปัญหาตามมาได้

 

                 ...3 เรื่องข้างต้นนี้คือสิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้ ก่อนฟอร์แมตไดรฟ์เพื่อนำไปใช้งาน ส่วนจะต้องกำหนดค่าอย่างไร หรือเป็นแบบใดนั้นคงไม่มีไม่กฎเกณฑ์อะไรที่ตายตัว เพราะขึ้นอยู่กับลักษณะของอุปกรณ์และการนำไปใช้งานของแต่ละคน


© 2023 Synnex (Thailand) Public Company Limited. All rights reserved.