ฟอร์แมตไดรฟ์ ใช้อะไรดี เมื่อมีระบบไฟล์ FAT32, NTFS และ exFAT ให้เลือก

                ไม่ว่าคุณจะฟอร์แมตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่อยู่ในเครื่อง นอกเครื่อง แฟลชไดฟร์ USB หรือการ์ดหน่วยความจำ ระบบปฏิบัติการWindows จะมีระบบไฟล์ให้เลือกใช้ 3 แบบ คือระหว่าง FAT32, NTFS และ exFAT แต่ปัญหาก็คือ ไม่ว่าเราจะฟอร์แม็ตด้วยเครื่องมือจัดการใดๆ Windows ก็แทบจะไม่บอกอะไรกับเราเลยว่า ระบบไฟล์ทั้ง 3 นี้แตกต่างกันอย่างไร และควรเลือกใช้แบบใดถึงจะเหมาะสม แต่คุณจะรู้ได้จากรายละเอียดต่อไปนี้

                แต่ก่อนที่จะไปทำความเข้าใจ หรือรู้ว่า FAT32, NTFS และ exFAT แตกต่างกันอย่าง อันดับแรกจะต้องรู้จักการเป็น “ระบบไฟล์ (File System)” ของพวกมันก่อน ว่าทำไมมันจึงสำคัญกับการใช้ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลของเราขนาดนั้น

                ระบบไฟล์เป็นรูปแบบของโครงสร้างข้อมูลและวิธีการที่ระบบปฏิบัติการใช้ในการจัดระเบียบ ควบคุมการจัดเก็บและเรียกใช้ข้อมูลต่างๆ ภายในไดรฟ์ หรืออุปกรณ์บันทึกข้อมูลใดๆ ที่ใช้งานกับเครื่อง ซึ่งหากไม่มีการใช้ระบบไฟล์แล้ว ข้อมูลต่างๆ ที่ถูกเก็บอยู่ในไดรฟ์จะถูกรวมเข้าด้วยกันจนมีลักษณะเป็นก้อนขนาดใหญ่ และไม่สามารถบอกได้เลยว่า ข้อมูลหนึ่งข้อมูลใดเริ่มต้นตรงไหนและตำแหน่งใดที่เป็นจุดสิ้นสุด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องแยกข้อมูลออกเป็นส่วนๆ พร้อมกับมีชื่อกำกับเพื่อให้ระบุตำแหน่งและเชื่อมโยงส่วนของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกันเข้าด้วยกันได้เป็นกลุ่มได้ (กลุ่มข้อมูลนี้เรียกกว่า “ไฟล์” (File) นอกจากนี้ยังอาจจะมีการกำหนดคุณลักษณะอื่นๆ เพิ่มเติมไว้ด้วย

                ระบบไฟล์ที่ระบบปฏิบัติการ Windows มีให้เลือกใช้จัดการข้อมูลในไดรฟ์นั้น แม้ว่าความแตกต่างระหว่าง FAT32, NTFS และ exFAT จะไม่มีปัญหาเวลานำอุปกรณ์บันทึกข้อมูลมาใช้งานร่วมกัน แต่ก็ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม เพราะไม่ว่าจะเป็นระบบไฟล์อะไร ต่างก็มีข้อจำกัดในการใช้งานของตัวเอง

 

ระบบไฟล์ NTFS

           NTFS (New Technology File System) แม้จะมีอายุเกือบ 30 ปีแล้ว นับตั้งแต่ที่ถูกนำมาใช้กับ Windows NT และผู้ใช้ทั่วไปก็ใช้มาตั้งแต่สมัย Windows XP แล้ว แต่ตอนนี้ก็ยังถือว่าเป็นระบบไฟล์ที่ทันสมัยที่สุดของไมโครซอฟท์ และระบบไฟล์นี้ก็มักจะถูกกำหนดให้ใช้เป็นค่าเริ่มต้นเสมอ โดยเฉพาะเวลาฟอร์แมตฮาร์ดดิสก์เพื่อติดตั้ง Windows ใหม่ หรือเป็นไดรฟ์ที่ใช้เก็บข้อมูลในเครื่อง

           ข้อดีสำคัญของการใช้ระบบไฟล์ NTFS ก็คือ เราสามารถใช้ไฟล์ข้อมูลได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ทั้งเรื่องขนาดและจำนวน นอกจากนี้ยังสร้างพาร์ทิชันหรือไดรฟ์ให้มีขนาดเท่าไรก็ได้ เนื่องจากความจุของฮาร์ดดิสก์ที่มีให้ใช้ในปัจจุบันนี้ยังต่ำกว่าข้อจำกัดทางทฤษฎีของระบบไฟล์ NTFS มาก และยังอีกนานกว่าที่ข้อจำกัดนั้นจะมาถึง โดย NTFS นั้นรองรับการใช้งานไดรฟ์บนระบบปฏิบัติการ Windows 10 ได้ขนาดใหญ่ที่สุดถึง 8PB (Petabyte) หรือ 8,000TB (Terabyte) เมื่อใช้คลัสเตอร์ขนาดใหญ่ที่สุด 2,048KB

           นอกจากไม่มีข้อจำกัดเรื่องขนาดแล้ว NTFS ยังเป็นระบบไฟล์ที่มีคุณสมบัติดีๆ มากมาย เริ่มตั้งแต่รองรับการกำหนดสิทธิ์ในการเข้าถึงไฟล์ และการเข้ารหัสเพื่อความปลอดภัย มีระบบ Checkpoint เพื่อใช้ในการสำรองไฟล์อัตโนมัติ รวมทั้งยังสามารถบีบอัดไฟล์หรือโฟล์เดอร์ หรือแม้กระทั่งไดรฟ์ได้ด้วย

           แต่ไม่ว่าจะมีข้อดีมากมายขนาดไหน NTFS ก็เป็นระบบไฟล์ที่ขาดความเข้ากันได้ นั่นคืออุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่ใช้ระบบไฟล์นี้จะใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพก็เฉพาะเมื่อใช้กับระบบปฏิบัติการ Windows ตั้งแต่ Windows XP เป็นต้นมาเท่านั้น ในขณะที่การใช้กับระบบปฏิบัติการ macOS จะอ่านข้อมูลได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น บันทึกหรือเขียนข้อมูลลงไปไม่ได้ รวมทั้งการใช้กับเครื่องเล่นเกมคอนโซลรุ่นใหม่ก็มีแต่เครื่อง Xbox One เท่านั้นที่รองรับ

 

ระบบไฟล์ FAT32

           ในบรรดาระบบไฟล์ที่ Windows ใช้งานอยู่ในปัจจุบันนี้ FAT32 เป็นระบบไฟล์ที่มีอายุมากที่สุด เพราะใช้งานมาตั้งแต่สมัย Windows 95 แล้ว โดยเป็นระบบไฟล์ที่พัฒนาออกมาแทนที่ระบบไฟล์ FAT16 ที่ใช้อยู่ใน MS-DOS และ Windows 3.x ซึ่งคำว่า FAT ย่อมาจากคำว่า File Allocation Table

           ความแตกต่างสำคัญระหว่างระบบไฟล์ FAT32 กับ NTFS ก็คือ ในขณะที่ NTFS ใช้โครงสร้างเนื้อหาข้อมูลที่เป็น B-Tree แต่ FAT32 จะใช้โครงสร้างตาราง Linked List และกับการใช้งานในยุคสมัยนี้ ก็ต้องยอมรับว่า FAT32 เป็นระบบไฟล์ที่มีข้อจำกัดไม่น้อย โดยเฉพาะกับการที่มันสามารถจัดการไฟล์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดได้เพียง 4GB เท่านั้น ส่วนพาร์ทิชันที่มีขนาดได้ใหญ่ที่สุด 8TB นั้นอาจจะไม่ใช่ปัญหา เว้นเสียแต่ว่าต้องการไดรฟ์ที่มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษจริงๆ

           แต่ด้วยความที่ FAT32 เป็นระบบไฟล์เก่าแก่ ดังนั้นมันจึงเป็นระบบไฟล์ที่มีความเข้ากันได้สูง และสามารถใช้งานได้ทุกระบบปฏิบัติการทั้ง Windows, macOS และลินุกซ์ รวมไปถึงเครื่องเล่นเกมคอนโซลต่างๆ ดังนั้นมันจึงเป็นตัวเลือกที่ดีหากต้องการไดรฟ์ที่สามารถใช้งานร่วมกับระบบปฏิบัติการต่างๆ ได้อย่างไม่มีปัญหา

 

ระบบไฟล์ exFAT

           exFAT เป็นระบบไฟล์ที่ไมโครซอฟท์พัฒนาออกมาใหม่ในปี 2006 เพื่อใช้กับการ์ดหน่วยความจำทั้งหลาย รวมไปถึงแฟลชไดรฟ์ USB โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องขนาดไฟล์เหมือนกับ FAT32 คือระบบไฟล์นี้สามารถใช้งานไฟล์ที่มีขนาดได้ใหญ่กว่า 4GB และได้รับการสนนุนการใช้งานตั้งแต่ Windows XP และ Windows Vista เป็นต้นมา รวมทั้ง SD Association ก็กำหนดให้ใช้ระบบไฟล์นี้เป็นค่าเริ่มต้นสำหรับการใช้การ์ดหน่วยความจำแบบ SDXC ที่มีความจุสูงกว่า 32GB

           โครงสร้างเนื้อหาข้อมูลของระบบไฟล์ exFAT ยังคงใช้พื้นฐานเดียวกับ FAT32 แต่ก็ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น เพราะนอกจากจะบันทึกไฟล์ที่มีขนาดใหญ่กว่า 4GB ได้แล้วยังไม่มีข้อจำกัดเรื่องขนาดของไดรฟ์ แต่อย่างไรก็ดีระบบไฟล์นี้จะใช้งานกับระบบปฏิบัติการ macOS ได้อย่างเต็มที่เฉพาะเวอร์ชัน 10.6.5 หรือใหม่กว่าเท่านั้น รวมไปถึงถ้าต้องการใช้งานกับระบบลินุกซ์ก็จำเป็นต้องได้รับการติดตั้งซอฟท์แวร์ที่เหมาะสมก่อน

 

สรุป: ดีทุกระบบไฟล์ แต่ใช้งานต่างกัน

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านน่าจะพอทราบคำตอบแล้วว่า ควรเลือกระบบไฟล์ใดกับการใช้งานของตัวเอง แน่นอนว่า NTFS เป็นระบบไฟล์ที่ทันสมัยที่สุด และเหมาะที่สุดสำหรับฮาร์ดดิสก์ รวมทั้ง SSD ที่ใช้งานกับ Windows ส่วน FAT32 จะเป็นตัวเลือกที่เหมาะกับอุปกรณ์พกพาที่ต้องใช้งานกับหลายๆ ระบบปฏิบัติการ เพียงแต่ถ้าต้องบันทึกไฟล์ที่มีขนาดใหญ่กว่า 4GB ด้วย ก็ควรเลือกใช้ระบบไฟล์ exFAT

 

 

รายละเอียดเพิ่มเติม...https://docs.microsoft.com/en-us/windows/win32/fileio/filesystem-functionality-comparison


TECH INSIGHT