ความสามารถและคุณสมบัติใหม่ๆ ในระบบปฏิบัติการ Android Q

ในที่สุด Android Q ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการเวอร์ชันต่อไปสำหรับสมาร์ทโฟนก็ได้รับการพัฒนามาถึงช่วง Beta 3 และที่งาน Google I/O 2019 ก็ได้มีการเปิดตัวไปอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ว่ากว่าที่ผู้ใช้ทั่วไปจะได้สัมผัส Android Q เวอร์ชันที่สมบูรณ์จริง ก็คาดว่าน่าจะเป็นช่วงปลายปีนี้ หรือไม่ก็อาจจะข้ามไปต้นปี 2020 โน่นเลย

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่กำลังอยู่ในช่วงปรับปรุงพัฒนานี้ ก็ได้มีการเปิดเผยความสามารถใหม่ๆ ที่ Google นำมาใส่รวมไว้กับระบบปฏิบัติการใหม่นี้ออกมาบ้าง และบางอย่างนั้นก็เป็นอะไรที่น่าสนใจทีเดียว อย่างเช่นสิ่งที่จะสรุปให้ฟังต่อไปนี้

ปลอดภัยและมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น

                ในระบบปฏิบัติการ Android Q นี้ Google ได้พัฒนาให้มีการปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ที่เข้มงวดกว่าเดิม ระบบการทำงานต่างๆ มีความโปร่งใสชัดเจนมากขึ้น โดยผู้ใช้จะมีสิทธิ์ และสามารถควบคุมข้อมูลได้ตามต้องการ รวมทั้งมีเครื่องมือปกป้องข้อมูลส่วนตัวจากแอปฯ ต่างๆ ที่ดีขึ้น การใช้งานระบบระบุตำแหน่งสามารถตั้งค่าได้ละเอียดกว่าที่ผ่านมา โดยสามารถเลือกได้ว่าจะให้ทำงานตลอดเวลา ทำงานเฉพาะเวลาเปิดแอปฯ หรือไม่ให้ใช้งานเลยก็ได้ นอกจากนั้นคลิปบอร์ดของระบบปฏิบัติการ Android Q นั้นก็สามารถปิดกั้นไม่ให้แอปฯ มีสิทธิ์ในการเข้าถึงได้แล้ว

ฟีเจอร์สำหรับการรักษาความปลอดภัยอีกอย่างหนึ่งที่ถูกนำมารวมไว้ก็คือ แอปฯ ที่ทำงานในระบบปฏิบัติการใหม่นี้ จะมีการสร้างพื้นที่ส่วนตัวขึ้นมาเป็น Sandbox ที่แยกออกมาเป็นของตัวเองเลย และในพื้นที่นี้ แอปฯ อื่นๆ ก็จะเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ในโฟลเดอร์ที่ไม่ใช่ของตัวเองไม่ได้ ซึ่งทำให้ข้อมูลต่างๆ ของแต่ละแอปฯ มีความปลอดภัยสูงขึ้นมาก

แชทแบบหลายคนได้สะดวกขึ้น

เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์การใช้งานแบบมัลติทาส์กที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น Google จึงได้มีการนำฟีเจอร์ Bubbles ที่มีลักษณะคล้ายๆ กับที่ใช้ในแอปฯ Messenger มารวมไว้ในระบบปฏิบัติการใหม่นี้ด้วย แต่มันจะมีความพิเศษมากกว่านั้น ตรงที่มันสามารถใช้งานได้กับทุกแอปฯ เลย และแน่นอนว่าเหล่าแอปฯ แชททั้งหลายน่าจะได้รับประโยชน์จากฟีเจอร์นี้ไปเต็มๆ

รองรับการใช้งานหน้าจอพับได้

สมาร์ทโฟนแบบ Foldable หรือที่มีหน้าจอพับได้เป็นสิ่งที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นแล้ว และมันก็เป็นเทรนด์หนึ่งที่ผู้ผลิตรายสำคัญกำลังให้ความสำคัญ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหากระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์รุ่นใหม่นี้จะรองรับการใช้งานสมาร์ทโฟนรูปลักษณ์ใหม่นี้อย่างเต็มที่ และที่สำคัญก็คือนักพัฒนาที่ต้องการทดสอบแอปฯ ก็สามารถใช้ Emulator ที่อยู่บน Android Studio 3.5 จำลองการทำงานได้เลย ซึ่งในขณะนี้สามารถจำลองจอพับได้สองขนาดคือ 7.3 นิ้ว (เมื่อพับหน้าจอจะมีขนาด 4.6 นิ้ว) กับ 8 นิ้ว (เมื่อพับหน้าจอจะมีขนาด 6.6 นิ้ว) และทดสอบการแสดงผลของหน้าจอ ทั้งงเมื่อกางออกและพับอยู่ได้อย่างง่ายดายเลย

มีโหมดการแสดงผลบนพื้นหลังสีดำ

การแสดงผลในลักษณะของ Dark Theme หรือการใช้พื้นหลังสีดำ นอกจากจะทำให้สมาร์ทโฟนที่ใช้หน้าจอแบบ OLED ใช้งานแบตเตอรี่ได้ยาวนานขึ้นจนรู้สึกได้แล้ว ยังช่วยให้ผู้ใช้สบายตาเวลาที่ต้องใช้งานในที่มืดด้วย แต่อย่างไรก็ดีสิ่งนี้ก็อาจไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่และหลายๆ คนก็รู้จักกันดีแล้ว เนื่องจากหลายๆ แอปฯ ในปัจจุบันนี้ สามารถเลือกกำหนดให้แสดงผลในลักษณะนี้ได้

อย่างไรก็ตามก็ยังมีแอปฯ อีกเป็นจำนวนไม่น้อยที่ไม่มี Dark Theme ให้เลือก ดังนั้น Google จึงได้นำการแสดงผลแบบนี้มารวมไว้ในระบบปฏิบัติการใหม่นี้เลย ซึ่งฟีเจอร์นี้จะทำให้ผู้ใช้สามารถปรับให้แอปฯ ต่างๆ แสดงผลโดยใช้พื้นฉากหลังที่เป็นสีดำได้ แม้ว่าแอปฯ นั้นจะไม่มีโหมด Dark Theme ให้ใช้งานก็ตาม

แชร์ได้เร็วขึ้น ไม่ต้องเสียวเวลาโหลด

ข้อดีอย่างหนึ่งของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่ทุกคนทราบดีก็คือ ผู้ใช้จะค่อนข้างมีอิสระในการแชร์ไฟล์ข้อมูล แต่สิ่งที่พ่วงมาด้วยก็คือ เวลาที่ผู้ใช้กดแชร์ ระบบปฏิบัติการจะทำการตรวจสอบแอปฯ ต่างๆ ในเครื่องว่ามีแอปฯ ใดที่รองรับการแชร์ของผู้ใช้บ้าง ซึ่งนั่นทำให้มันต้องใช้เวลาสักครู่หนึ่ง ซึ่งแม้ว่าจะไม่นานนัก แต่ก็ทำให้การแชร์ของผู้ใช้นั้นขาดความต่อเนื่องไปพอสมควร แต่ในระบบปฏิบัติการ Android Q นั้น ปัญหาลักษณะนี้จะไม่เกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากผู้พัฒนาแอปฯ สามารถสร้างปุ่มแชร์เอาไว้ในแอปฯ ของตนได้เลย

มีระบบตรวจับระยะลึกของวัตถุในภาพ

การถ่ายภาพแบบหน้าชัดหลังเบลอ อาจจะยังคงมีความยุ่งยากอยู่บ้าง แต่เมื่ออยู่บนระบบปฏิบัติการ Android Q มันจะเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายมาก เนื่องจาก Google ได้พัฒนาให้ระบบปฏิบัติการใหม่นี้รองรับไฟล์ภาพแบบพิเศษที่มีข้อมูลความระดับลึกหรือระยะห่างของวัตถุต่างๆ ที่อยู่ในภาพด้วย และเมื่อผู้ใช้ต้องการ ระบบปฏิบัติการจะยอมให้แอปฯ สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้เพื่อทำการปรับแก้หรือสร้างโบเก้ได้โดยตรงเลย เพียงแต่ยังไม่ชัดเจนว่า คุณภาพของโบเก้ที่ได้ออกมาจะมีความสมจริงและดูเป็นธรรมชาติขนาดไหน

มีโหมดเดสก์ทอปในตัว

การใช้งานสมาร์ทโฟนในลักษณะของเครื่องพีซี อาจจะไม่ใช่ควาสามารถที่แปลกใหม่ โดยเฉพาะถ้าหากเทียบกับ Samsung Dex หรือว่า Huawei Desktop Mode แต่ตอนนี้มันก็กำลังเป็นความสามารถพื้นฐาน และเป็นความสามารถที่ถูกรวมอยู่ในระบบปฏิบัติการเลย ซึ่งนั่นทำให้ ผู้ใช้สามารถใช้งานโหมดเดสก์ทอปได้ โดยไม่มีข้อจำกัดว่าสมาร์ทโฟนจะรองรับหรือไม่ เพียงแค่สมาร์ทโฟนนั้นใช้ระบบปฏิบัติการ Android Q เท่านั้น

...สิ่งต่างๆ ดังรายละเอียดข้างต้นนี้ เป็นฟีเจอร์และความสามารถใหม่ที่จะมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android Q แต่แน่นอนว่ากว่าที่เราจะได้สัมผัสและได้ใช้งานกันจริงๆ นั้นยังต้องรอกันอีกพักใหญ่ แต่จะเป็นไปได้ขนาดไหน ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่า สมาร์ทโฟนที่ใช้อยู่จะได้รับการอัพเดตหรือไม่ด้วย

รายละเอียดเพิ่มเติม...https://android-developers.googleblog.com


TECH INSIGHT