คุณลักษณะเฉพาะของพาเนลแต่ละแบบ เพื่อการเลือกใช้งานจอภาพอย่างถูกต้อง

แม้ว่าจอภาพ TFT ทั้งหลายในปัจจุบันนี้จะมีหลักการทำงานที่คล้ายๆ กันคือ การฉายแสงผ่านฟิลเตอร์สีโดยมีชั้นผลึกเหลวเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมหรือบังคับทิศทางแสงที่ส่องผ่านออกมา แต่เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังการทำงานนั้นก็จะแตกต่างกันไป โดยเฉพาะในส่วนที่เรียกกันว่า “พาเนล” ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่มีความสำคัญกับการแสดงผลเป็นลำดับต้นๆ นั่นคือจอภาพจะแสดงผลได้ดีหรือมีคุณภาพมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับพาเนลที่ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมุมมองภาพมีความแน่นอน การถ่ายทอดสีสันที่ถูกต้องแม่นยำ ความเร็วในการตอบสนองและอัตราคอนทราสต์ที่แท้จริง

และเนื่องจากพาเนลที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของจอภาพ ได้รับการพัฒนาขึ้นมาโดยมีเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ทำให้พาเนลแต่ละแบบจึงมีคุณลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า พาเนลแบบนั้นมีข้อดีอะไรบ้าง หรือมีข้อด้อยอย่างไรเมื่อเทียบกับพาเนลแบบอื่น เพื่อจะได้เลือกใช้งานได้อย่างเหมาะสมกับความต้องการจริงๆ เพราะไม่ว่าจะเป็นพาเนลเทคโนโลยีใดก็ตาม มันก็มีข้อดีและข้อด้อยด้วยกันทั้งนั้น โดยบทความต่อไปนี้จะอธิบายให้คุณเข้าใจว่า ภายใต้เทคโนโลยีที่แตกต่างกันนั้น พาเนลแต่ละแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ข้อดีและข้อด้อยอะไรบ้าง

Twisted Nematic (TN)

ปัจจุบันจอภาพที่ใช้พาเนลแบบนี้จะมีจำนวนมากที่สุด เนื่องจาก TN เป็นพาเนลที่มีราคาถูก ดังนั้นจอภาพที่ผลิตออกมาจึงมีราคาไม่แพง นอกจากนั้นโครงสร้างผลึกเหลวภายในยังสามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้เวลาในการเปลี่ยนสถานะจากการแสดงสีเทา จากค่าหนึ่งไปอีกค่าหนึ่งเพียง 1-2 มิลลิวินาที ซึ่งทำให้วัตถุในภาพที่แสดงออกมาแทบจะไม่มีการเหลื่อมของภาพให้เห็นเลย ในขณะเดียวกันก็สามารถแสดงภาพความถี่ 120Hz ได้อย่างไม่มีข้อจำกัดเลย ด้วยเหตุนี้พาเนล TN จึงเหมาะสำหรับการผลิตจอภาพสำหรับการเล่นเกมด้วย

 

ลักษณะการเรียงตัวของผลึกเหลวในจอภาพที่ใช้พาเนล TN

 

แต่อย่างไรก็ตามข้อดีข้างต้นนั้นก็ต้องแลกมาด้วยข้อด้อยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องของมุมมองภาพที่แคบกว่าพาเนลแบบอื่น ซึ่งในปัจจุบันจำกัดอยู่เพียง 170 องศาตามแนวนอนและ 160 องศาในแนวตั้ง นอกจากนั้นยังมีอัตราการผิดเพี้ยนของภาพที่สูงกว่าพาเนลอื่นอย่างเห็นได้ชัดเจน และเมื่อมีการใช้เทคนิคพิเศษ อย่างเช่น Overdrive เพื่อให้มีการตอบสนองที่รวดเร็วขึ้น การแสดงภาพยนตร์ของจอภาพก็จะเห็นจุดรบกวนต่างๆ ได้อย่างชัดเจน

 

ลักษณะของภาพที่แสดงออกมาบนจอภาพที่ใช้พาเนล TN เมื่อมองด้วยมุมมองต่างๆ

 

In-Plane Switching (IPS)

ในขณะที่พาเนล TN มีมุมมองภาพที่ค่อนข้างจำกัด ข้อด้อยนี้กลับกลายเป็นจุดเด่นที่สามารถพบได้จากจอภาพที่ใช้พาเนล IPS ทุกรุ่นในปัจจุบัน โดยมีมุมมองที่กว้างถึง 178 องศาทั้งแนวตั้งและแนวนอน ดังนั้นไม่ว่าจะมองภาพจากด้านใด ภาพที่เห็นก็แทบจะไม่มีความผิดเพี้ยนไปจากเดิมเลย นอกจากนั้นสีสันต่างๆ ที่แสดงออกมาก็มีแม่นยำสูง ซึ่งทำให้จอภาพที่ใช้พาเนลแบบนี้เหมาะสำหรับการใช้งานด้านกราฟิกมาก แต่ข้อเสียของพาเนล IPS ก็คือ ในการแสดงสีดำหรือภาพโทนมืดนั้น หากมองภาพตามแนวเฉียงจะพบว่าภาพจะไม่ดำสนิทจริงๆ โดยเฉพาะหากเทียบกับพาเนลแบบ VA

พาเนล IPS ได้มีการพัฒนาออกมาเป็นเวอร์ชันต่างๆ โดยบริษัทชั้นนำต่างๆ ได้ทำการปรับปรุงแก้ไขโดยนำเทคนิคต่างๆ มาใช้ ยกตัวอย่างเช่นลดการเรืองแสงสีขาวเพื่อทำให้แสดงภาพสีดำได้ดำสนิทกว่าเดิม (H-IPS) มีการเพิ่มความสามารถในการส่งผ่านแสงจาก Backlight เพื่อเพิ่มอัตราคอนทราสต์และนำวงจร Overdrive มาช่วยลดการเบลอของภาพ ที่วัตถุในภาพมีการเปลี่ยนตำแหน่งอย่างรวดเร็ว (AH-IPS)

 

 

ลักษณะโครงสร้างพิกเซลที่มีความแตกต่างกันของพาเนล H-IPS (ซ้าย) และ S-IPS (ขวา)

 

Vertical Alignment (VA)

หากเปรียบเทียบกับพาเนล TN และ IPS แล้วจุดเด่นสำคัญของพาเนล VA ก็คือ การแสดงสีที่ดำสนิทจริงๆ และมีอัตราคอนทราสต์ที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นจอภาพที่ใช้พาเนลแบบนี้จึงเหมาะสำหรับการรับชมภาพยนตร์มาก แต่อย่างไรก็ตามในเรื่องมุมมองภาพนั้น พาเนล VA ก็ยังเป็นรองพาเนล IPS อยู่รวมทั้งความแม่นยำในการถ่ายทอดสีสันก็ยังด้อยกว่าพาเนล IPS อย่างเห็นได้ชัด และความเร็วในการตอบสนองของพิกเซลก็ช้ากว่าพาเนล TN พอสมควร

เมื่อทราบคุณลักษณะเฉพาะของพาเนลแต่ละแบบแล้ว จากนี้ไปก็สามารถเลือกใช้งานจอภาพที่เหมาะสมก็ง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตามพาเนลไม่ใช่ทุกอย่างของจอภาพ ดังนั้นจึงควรพิจารณาเรื่องอื่นประกอบด้วย เพราะสิ่งที่เราต้องการจริงๆ อาจเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ในพาเนลที่จอภาพใช้ก็ได้

รายละเอียดเพิ่มเติม...https://bit.ly/2QG2jHT


TECH INSIGHT