ปลอดภัยและมั่นใจกว่า เมื่อเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ของแท้ ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง

               การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เป็นปัญหาที่พบได้ทั่วโลก โดยมีซอฟต์แวร์ที่ไม่ใช่ของแท้ปรากฏให้เห็นมากมาย โดยเฉพาะกับซอฟต์แวร์ที่มีการดัดแปลงแก้ไขเพื่อให้ใช้งานได้โดยไม่ถูกตรวจจับ ไม่ว่าจะเป็นการ Crack หรือว่าหลบเลี่ยงขั้นตอนการ Activate แต่สิ่งที่น่าตกใจก็คือ ซอฟต์แวร์เหล่านี้มักจะถูกใช้เป็นช่องทางในการกระจายไวรัสหรือมัลแวร์ของเหล่าอาชญากรไซเบอร์เสมอ และหากติดตั้งลงในเครื่องเมื่อใด การใช้งานของผู้ใช้ก็จะไม่ปลอดภัยทันที

               การใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกดัดแปลงแก้ไขนี้ ทำให้เครื่องมีปัญหาในระหว่างการใช้งานมากมาย ทั้งการทำงานที่ไม่ราบรื่นและการขาดการอัพเดต นอกจากนี้หากมีมัลแวร์ก็ทำให้มีภัยคุกคามตามมามากมายเช่น ถูกขโมยข้อมูลทางด้านการเงิน ถูกโจรกรรมอัตลักษณ์ส่วนบุคคลต่างๆ โดยเฉพาะชื่อบัญชีและพาสเวิร์ดต่างๆ หรือถ้ามัลแวร์นั้นเป็นประเภท Ransomeware ก็จะทำต้องเสียเงินค่าไถ่หรือไม่ก็ข้อมูลสำคัญ ทั้งข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางธุรกิจที่อยู่ในเครื่อง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและความมั่นใจในการใช้งาน จึงควรเลือกใช้แต่ซอฟต์แวร์ของแท้ที่มีลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง

               สำหรับในกรณีที่เป็นระบบปฏิบัติการ Windows และโปรแกรม Office นั้น ซอฟต์แวร์ของแท้ที่มีลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง ควรเลือกซื้อจากร้านค้ามีความน่าเชื่อถือ หรือผู้จัดจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากไมโครซอฟท์เท่านั้น (เช่นบริษัท ซินเน็คฯ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และร้านค้าตัวแทนจำหน่ายของซินเน็คฯ) ทั้งนี้ก็เพื่อการใช้งานที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย รวมทั้งมั่นใจได้ว่าจะได้รับการดูแลจากไมโครซอฟท์ตลอดอายุการใช้งาน แต่สิ่งหนึ่งที่ควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วยก็คือ การที่ผู้ใช้สามารถ Activate หรือเปิดใช้งานผลิตของไมโครซอฟท์ได้นั้น “ไม่ได้หมายความว่า” ผู้ใช้มีสิทธิ์ในการใช้งานอย่างถูกต้องเสมอไป เพราะความถูกต้องของการใช้งานไม่ได้อยู่ที่การ Activate ว่าได้หรือไม่ได้ แต่อยู่ที่การซื้อหรือจัดหามาใช้ว่า ได้มาอย่างถูกต้องหรือไม่และมีการรับรองที่ถูกต้องตามประเภทของการใช้งานหรือเปล่าต่างหาก ตัวอย่างเช่น การนำ Product Key หรือลิขสิทธิ์การใช้งาน Windows ที่มีไว้สำหรับนักเรียนนักศึกษาและองค์กรใดองค์กรหนึ่งมา Activate ใช้งานส่วนตัวหรือเพื่อธุรกิจ โดยที่ผู้ใช้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษาหรือองค์กรนั้นเลย แบบนี้ถือว่าเป็นการใช้งานที่ไม่ถูกต้อง

 

ลิขสิทธิ์แบบต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ Windows และ Office สำหรับผู้ใช้ทั่วไป

                จากที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้การเลือกซื้อซอฟท์แวร์ของแท้ของไมโครซอฟท์ จำเป็นต้องคำนึงถึงประเภทของลิขสิทธิ์ที่ถูกต้องและสอดคล้องกับการใช้งานด้วย ซึ่งในรายละเอียดต่อไปนี้จะอธิบายให้เข้าใจว่า ลิขสิทธิ์ประเภทต่างๆ สำหรับผู้ใช้ทั่วไปของไมโครซอฟท์มีอะไรบ้าง แตกต่างกันอย่างไร และผลิตภัณฑ์อะไรที่วางจำหน่ายบ้าง รวมทั้งในกรณีของ Windows Server รายละเอียดอะไรเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ที่ผู้ใช้ต้องรู้อีกบ้างถ้าต้องการใช้งาน

                1. OEM (Original Equipment Manufacturer)

                ลิขสิทธิ์ประเภทนี้จะมีทั้งแบบที่ติดตั้งมาพร้อมกับเครื่องฯ (ทั้งเดสก์ทอปและโน้ตบุ๊ก) โดยจะมีสติ๊กเกอร์บอกให้รู้ที่ตัวเครื่อง (ติดตั้งมาจากโรงงานผู้ผลิต ไม่ใช่ร้านจำหน่าย) ซึ่งโดยมากมักจะเป็นเครื่องจากผู้ผลิตที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปเช่น Dell, HP หรือ Lenovo และบางครั้งก็อาจจะมีแผ่นดีวีดีสำหรับติดตั้งมาให้ด้วย แต่ถ้าไม่มีผู้ใช้จะต้องสร้างแผ่นดีวีดีหรือทำระบบสำรองสำหรับกู้คืนเวลาที่เครื่องมีปัญหาขึ้นมาเอง

                นอกจากติดตั้งมาพร้อมกับเครื่อง OEM ยังเป็นลิขสิทธิ์ที่ผู้ใช้สามารถหากซื้อได้ตามร้านค้าตัวแทนจำหน่าย โดยผลิตภัณฑ์จะมีลักษณะเป็นซองกระดาษและมีแผ่นดีวีดีสำหรับติดตั้งรวมอยู่ภายใน ซึ่งผู้ใช้สามารถตรวจสอบความเป็นผลิตของแท้ได้โดยดูสติ๊กเกอร์ฮอโลแกรมที่บริเวณวงในและขอบด้านนอกของแผ่นดีวีดี ซึ่งจะมีคำว่า Microsoft และเปลี่ยนเป็นคำว่า Genuine เมื่อเอียงแผ่น

             

                ลิขสิทธิ์แบบ OEM จะมีวางจำหน่ายเฉพาะผลิตภัณฑ์ Windows สำหรับติดตั้งใช้งานกับเครื่องใหม่ 1 เครื่อง สามารถดาวน์เกรดไปใช้เวอร์ชันที่ต่ำกว่าได้  แต่เมื่อติดตั้งใช้งานแล้วจะต้องใช้งานกับเครื่องนั้นไปตลอด เปลี่ยนหรือนำไปใช้กับเครื่องอื่นไม่ได้ เนื่องจาก Key ที่ใช้จะผูกติดอยู่กับเมนบอร์ดของเครื่องตลอดอายุการใช้งาน ดังนั้นหากเมนบอร์ดของเครื่องมีปัญหาจนต้องเปลี่ยนใหม่ ลิขสิทธิ์การใช้งานจะสิ้นสภาพทันที แต่สำหรับการติดตั้งใหม่ในเครื่องเดิมยังคงทำได้ไม่มีปัญหา

                เนื่องจากลิขสิทธิ์ประเภทนี้ไม่สามารเปลี่ยนเครื่องได้ ดังนั้นจึงไม่เหมาะกับนำมาใช้กับเครื่องเดสก์ทอปที่มีแนวโน้มว่าจะมีการอัพเกรดเมนบอร์ดในอนาคต แต่เหมาะกับการซื้อมาใช้กับโน้ตบุ๊กเครื่องใหม่ที่ไม่มีระบบปฏิบัติการมาให้ และเป็นตัวเลือกที่ดีเนื่องจากลิขสิทธิ์ประเภทนี้มักจะมีราคาประหยัดกว่าลิขสิทธิ์ประเภทอื่น

                แม้ว่าลิขสิทธิ์แบบ OEM จะมีไว้สำหรับใช้กับเครื่องใหม่ แต่ถ้าใครมีเครื่องเก่าที่ใช้ Windows ไม่มีลิขสิทธิ์ที่ถูกต้องก็มีลิขสิทธิ์แบบ GGK หรือ Get Genuine Kit ให้เลือกใช้กับเครื่องลักษณะนี้เช่นกัน แต่จะดาวน์เกรดไม่ได้ ส่วนการใช้งานอื่นๆ และรูปแบบผลิตภัณฑ์จะมีลักษณ์เหมือนกับลิขสิทธิ์แบบ OEM ทุกอย่าง

                หมายเหตุ: ลิขสิทธิ์ประเภท OEM บางครั้งอาจจะพบในชื่อ OEI (Original Equipment Installation) แต่ให้เข้าใจว่าเป็นแบบเดียวกัน และขอบเขตการใช้งานระหว่าง OEM กับ OEI ก็เหมือนกันทุกอย่าง

                2. FPP (Full Package Products)

                ลิขสิทธิ์ประเภท FPP ก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีวางจำหน่ายทั่วไปเหมือนกับแบบ OEM แต่ตัวผลิตภัณฑ์จะมีลักษณะเป็นกล่องบรรจุ และไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะ Windows เท่านั้น แต่ยังมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นโปรแกรม Office ด้วย นอกจากนี้ในกรณีที่เป็น Windows ก็จะมีแฟลชไดรฟ์ USB สำหรับติดตั้งให้มาด้วย โดยผู้ใช้สามารถตรวจสอบความเป็นของแท้ของผลิตได้ โดยที่แฟลชไดรฟ์จะมีฮอโลแกรมฝังอยู่ในลายพิมพ์บริเวณส่วนที่เป็นพลาสติก

             

                ข้อดีของลิขสิทธิ์ประเภทนี้ก็คือ สามารถติดตั้งใช้งานได้ทั้งเครื่องใหม่และเครื่องเก่า รวมทั้งสามารถนำไปใช้กับเครื่องใดๆ ก็ได้ เพียงแค่ถอนการใช้งานออกจากเครื่องเดิมก่อน ดังนั้นไม่ว่าจะเปลี่ยนเมนบอร์ดเพื่ออัพเกรดเครื่องใหม่ หรือเปลี่ยนเครื่องใหม่ก็ยังคงสามารถนำมาติดตั้งใช้งานได้เหมือนเดิม เพียงแต่จะ Downgrade ไปใช้เวอร์ชันต่ำกว่าไม่ได้ นั่นคือถ้าซื้อ Windows หรือโปรแกรม Office เวอร์ชันอะไรมาก็ต้องใช้แบบนั้นไปตลอด นอกจากนี้เมื่อติดตั้งใช้งานแล้วผู้ใช้จะต้องเก็บกล่องและสิ่งต่างๆ ที่ให้มาพร้อมกับกล่องไว้สำหรับยืนยันสิทธิ์ตลอดเวลาที่ใช้งาน เนื่องจากลิขสิทธิ์การใช้งาน Windows 10 ประเภทนี้จะอยู่ที่กล่อง ไม่ได้อยู่ที่เครื่องเหมือนกับลิขสิทธิ์แบบ OEM ดังนั้นห้ามแกะสติ๊กเกอร์ที่กล่องมาแปะไว้ที่เครื่องเด็ดขาด และให้เข้าใจด้วยว่า Key หรือลิขสิทธิ์ที่ได้มานั้นสามารถใช้งานได้เพียงเครื่องฯ เดียวเท่านั้น

                ลิขสิทธิ์ประเภท FPP และ OEM ที่มีการวางจำหน่ายตามร้านค้าตัวแทนจำหน่ายจะมีใบรับรองความเป็นผลิตภัณฑ์ของแท้ (COA) และรหัสผลิตภัณฑ์ (Product Key) ให้มาพร้อมกับผลิตภัณฑ์ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้ แต่เฉพาะ Edition ที่ไมโครซอฟท์ออกแบบไว้สำหรับธุรกิจเท่านั้น

                3. ESD (Electronic Software Delivery)

                ลิขสิทธิ์ประเภทนี้ จะมีลักษณะการใช้งานเหมือนกับลิขสิทธิ์ประเภท FPP ทุกอย่าง รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์ให้เลือกใช้งานทั้ง Windows และโปรแกรม Office แต่จะเป็นการจำหน่ายในรูปแบบดิจิตอลโดยดาวน์โหลดและเปิดใช้งานผลิตภัณฑ์ผ่านอีเมลของผู้ใช้ โดยข้อดีของการซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีลิขสิทธิ์ประเภทนี้ก็คือ ผู้ใช้ไม่ต้องไปซื้อที่ร้านหรือรอให้สินค้ามาส่ง เพราะหลังจากที่ซื้อผ่านระบบออนไลน์แล้ว ผู้จำหน่ายจะส่ง Product Key และ Activation Link มาให้ในอีเมล ผู้ใช้เพียงเข้าไป Log-in ใส่คีย์ใน Link Setup ก็เริ่มติดตั้งใช้งานได้เลย และการรับรองสิทธิ์การใช้งานก็จะเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ทำให้ไม่จำเป็นต้องเก็บกล่องไว้ยืนยันเหมือนกับลิขสิทธิ์แบบ FPP ที่สำคัญคือลิขสิทธิ์แบบ ESD นี้จะสั่งซื้อผ่านอีเมลของ Authorized Distributor ที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากไมโครซอฟท์เท่านั้น ทำให้มั่นใจได้ว่าผู้ใช้จะได้รับผลิตภัณฑ์ของแท้ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องอย่างแน่นอน

 

ลิขสิทธิ์การใช้งาน Windows Server

                แม้จะเป็นซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการเหมือนกัน แต่ลิขสิทธิ์ Windows สำหรับเครื่องเซิร์ฟเวอร์จะต่างไปจาก Windows 10 หรือ 11 ที่ผู้ใช้ทั่วไปคุ้นเคย เนื่องจากลิขสิทธิ์การใช้งานจะต้องพิจารณาเงื่อนไขสำคัญ 2 ส่วน

                ส่วนที่ 1 จำนวนคอร์ของซีพียู

                เมื่อจำเป็นต้องใช้ลิขสิทธิ์ Windows Server จำเป็นต้องดูจำนวนคอร์ของซีพียูที่เซิร์ฟเวอร์ใช้ก่อนว่ามีจำนวนเท่าใด โดยต้องซื้อให้ครอบคลุมขั้นต่ำ 16 คอร์ แม้ว่าซีพียูที่ใช้จะมีจำนวนคอร์ไม่ถึง 16 คอร์ก็ตาม เนื่องจากเป็นเงื่อนไขการใช้งานขั้นต่ำที่ไมโครซอฟท์กำหนดไว้ และถ้าซีพียูมีจำนวนคอร์มากกว่านี้ก็ต้องซื้อลิขสิทธิ์เพิ่มให้ครบตามจำนวน

                ส่วนที่ 2 จำนวนการเชื่อมต่อ

                หรือที่เรียกกันว่า CAL (Client Access License) ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ในการเชื่อมต่อใช้งานกับเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งมี 2 ประเภทคือ User CAL ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์การเชื่อมต่อใช้งานเซิร์ฟเวอร์ที่อ้างอิงตามจำนวนผู้ใช้ โดยผู้ใช้แต่ละคนจะเชื่อมต่อโดยใช้อุปกรณ์จำนวนเท่าใดก็ได้ ส่วนอีกประเภทคือ Device CAL ซึ่งจะอ้างอิงตามจำนวนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์ โดยค่าลิขสิทธิ์ส่วนนี้จะต้องเลือกแบบใดแบบหนึ่ง ซึ่งมีเทคนิคง่ายคือ ถ้ามีการใช้อุปกรณ์จำนวนมากกว่าผู้ใช้ให้เลือก User CAL แต่ถ้ามีจำนวนผู้ใช้มากกว่าอุปกรณ์ เช่นในองค์กรที่ใช้งานเครื่องร่วมกัน โดยผลัดเปลี่ยนกันใช้งานให้เลือกแบบ Device CAL

                อย่างไรก็ดีเงื่อนไขทั้งสองส่วนนี้ก็จะใช้สำหรับ Windows Server Standard กับ Datacenter เท่านั้น เนื่องจากลิขสิทธิ์การใช้ Windows Server Essential ที่ออกแบบไว้สำหรับธุรกิจขนาดเล็กซึ่งมีจำนวนผู้ใช้ไม่เกิน 25 คน ได้จำกัดการใช้งานไว้กับซีพียูที่มีจำนวนคอร์ไม่เกิน 10 คอร์แล้ว

 

                กล่าวโดยสรุปก็คือ สำหรับผู้ทั่วไปที่ต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ Windows ไว้ใช้งานส่วนตัว โดยที่สามารถเปลี่ยนเครื่องได้ตลอดเวลาเมื่อมีฮาร์ดแวร์ใหม่ๆ ก็ควรเลือกซื้อลิขสิทธิ์แบบ FPP ที่เป็นแบบกล่อง หรือเลือกแบบ ESD ที่เป็นระบบอิเล็กทรอนิสก์ แต่ถ้ามั่นใจว่าจะใช้กับเครื่องหนึ่งเครื่องใดไปตลอด ลิขสิทธิ์แบบ OEM ก็เป็นทางเลือกที่ดี เนื่องจากมีราคาที่ประหยัดกว่า ส่วนการเลือกใช้โปรแกรม Office จะมีให้เลือกระหว่างลิขสิทธิ์แบบ FPP กับ ESD ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าสะดวกที่จะใช้งานแบบใด หรือไม่ ก็มีผลิตภัณฑ์ Microsoft 365 ที่เป็นระบบเช่าใช้เป็นรายเดือน/รายปีเป็นอีกทางเลือก

                หมายเหตุ: Windows Server 2022 ไม่มีลิขสิทธิ์แบบ ESD

                และแน่นอนว่าผลิตภัณฑ์ซอฟท์แวร์ของแท้ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องเหล่านี้ หากซื้อจากตัวแทนจำหน่ายที่มีความน่าเชื่อถือหรือได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากไมโครซอฟท์ ก็มั่นใจได้เลยว่าจะใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ราบรื่น ปลอดภัยและได้รับการดูแลจากไมโครซอฟท์อย่างแน่นอน

 

รายละเอียดเพิ่มเติม...https://www.microsoft.com/th-th/genuine/


SYNNEXPERIENCE