6 สิ่งใน Windows ที่ไม่ควรทำ ถ้าไม่แน่ใจหรือยังไม่ถึงเวลาจำเป็น

                หลังจากที่ติดตั้ง Windows และลงไดรเวอร์ต่างๆ จนเครื่องพร้อมใช้งานแล้ว แต่บางครั้งเราก็อาจจะต้องทำการตั้งค่าการทำงานเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเพื่อประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น หรือเพื่อให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการใช้งานของเราเอง แต่อย่างไรก็ดีก็ควรทำอย่างระมัดระวังและควรตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามด้วย เพราะการตั้งค่าที่ผิดพลาดบางอย่างอาจทำให้เครื่องและระบบ Windows มีความเสี่ยง หรือมีปัญหาจนอาจจะทำให้ต้องติดตั้งใหม่เลย โดยเฉพาะกับ 6 สิ่งต่อไปนี้ที่ควรทำ เฉพาะเมื่อถึงเวลาที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น
 

ปรับแต่งแก้ไขข้อมูลใน Registry Editor

                Registry เป็นฐานข้อมูลกลางที่ระบบปฏิบัติการ Windows จำเป็นต้องใช้ในการทำงาน โดยจะโหลดขึ้นมาในระหว่างการบูตเครื่อง โดยข้อมูลที่เก็บรวมอยู่ภายใน Registry นี้จะมีทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่ใช้ ไฟล์ข้อมูล โปรแกรมต่างๆ ที่ติดตั้งอยู่ในเครื่อง บัญชีผู้ใช้ รวมไปถึงการตั้งค่าต่างๆ ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ข้อมูลใน Registry ก็จะถูกเรียกใช้และแก้ไขใหม่ด้วย โดยโครงสร้างของ Registry ประกอบไปด้วยกลุ่มของ Root Keys จำนวน 5 กลุ่มซึ่งเรียกรวมๆ ว่า Registry Hive (H) ได้แก่

                กลุ่มที่ 1 HKEY_CLASSES_ROOT (HKCR) เป็นคีย์ของข้อมูลที่เชื่อมโยงไปยังนามสกุลของไฟล์ต่างๆ

                กลุ่มที่ 2 HKEY_CURRENT_USER (HKCU) เป็นคีย์ที่เก็บข้อมูลผู้ใช้งานที่กำลัง Logon อยู่ในขณะนั้น

                กลุ่มที่ 3 HKEY_LOCAL_MACHINE (HKLM) เป็นคีย์ที่เก็บข้อมูลของเครื่องนั้นๆ โดยข้อมูลที่อยู่ในคีย์หลักจะเป็นข้อมูลของอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์แต่ละชิ้น รวมไปถึงข้อมูลการตั้งค่าของระบบ

                กลุ่มที่ 4 HKEY_USERS (HKU) เป็นคีย์ที่เก็บข้อมูลผู้ใช้งานทั้งหมดที่ Logon เข้าใช้งาน

                กลุ่มที่ 5 HKEY_CURRENT_CONFIG (HKCC) เป็นคีย์ที่เก็บข้อมูลการตั้งค่าของฮาร์ดแวร์ต่างๆ ที่จะทำงานเมื่อ Windows เริ่มบูตขึ้นมาทำงาน

                คีย์หลักเหล่านี้ แต่ละคีย์จะมีคีย์ย่อยๆ อื่นๆ รวมอยู่อีกมากมาย โดยข้อมูลที่ถูกบันทึกใน Registry จะมีทั้งที่เป็น String (ตัวอักษร), Binary (เลขฐาน 2), DWORD, QWORD และ Multi-String ซึ่งผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้จาก Registry Editor เพียงพิมพ์คำว่า regedit ในช่องค้นหาแล้วเรียกขึ้นมาเท่านั้น แต่อย่างไรก็ดีหาก Windows ยังคงใช้งานได้เป็นปกติก็แทบไม่มีความจำเป็นที่ผู้ใช้จะเข้าไปยุ่งกับข้อมูลใน Registry เลย เพราะหากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเผลอลบคีย์โดยไม่ตั้งใจ หรือแก้ไขข้อมูลให้เป็นอย่างอื่นๆ บางครั้งก็จะทำให้เครื่องมีปัญหาจนต้องติดตั้ง Windowsใหม่เลย ดังนั้นหากต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขจึงควรทำเฉพาะเมื่อจำเป็นเท่านั้น เช่นเพื่อแก้ปัญหา หรือปรับปรุงให้ทำงานดีขึ้น
 

ปิดการอัปเดตอัตโนมัติของ Windows

                เนื่องจากไมโครซอฟท์จะมีการอัปเดตเพื่อปรับปรุงการทำงานของ Windows อยู่เป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นการอุดช่องโหว่ทางด้านความปลอดภัยที่มีการตรวจพบ แก้ไขข้อผิดพลาด และการเพิ่มความเข้ากันได้ในการทำงานร่วมกับอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ใหม่ๆ รวมไปถึงการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ ดังนั้นจึงควรอัพเดต Windows อย่างสม่ำเสมอ และไม่ควรปิดฟังก์ชัน Auto Update เพื่อให้เครื่องพีซีของเราทันสมัยตลอดเวลา

                อย่างไรก็ตามการใช้ฟังก์ชันอัปเดตอัตโนมัติก็อาจจะทำให้เกิดความรำคาญจากการแจ้งเตือนอยู่บ้าง หรือบางครั้งก็ทำให้เราถูกขัดจังหวะขณะที่กำลังใช้งานอยู่ แต่ถึงอย่างนั้นก็ควรเปิดไว้เสมอ แล้วกำหนดเวลาให้เหมาะสมกับการใช้งานของเราเอง แต่ถ้าต้องปิดการอัพเดต ขอให้ทำเฉพาะเมื่อจำเป็นจริงๆ เท่านั้น
 

ปิดการทำงานของ Microsoft Defender Firewall

                Firewall เป็นส่วนที่คอยทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลที่ผ่านเข้าออกระบบว่ามีความถูกต้องและปลอดภัย โดยทำงานอยู่เบื้องหลัง คอยปิดกั้นข้อมูล ภัยคุกคามและการเข้าถึงที่เป็นอันตราย ดังนั้น Microsoft Defender Firewall ที่มาพร้อมกับ Windows จึงถูกกำหนดให้เปิดใช้งานเสมอ แต่อย่างไรก็ตาม Microsoft Defender Firewall ก็สามารถปิดการทำงานได้ง่ายๆ โดยเปิดหน้า Setting แล้วเลือกที่ Privacy & security > Windows Security > Firewall & network protection จากนั้นเลือกโปรไฟล์ Domain network, Private network หรือ Public network แล้วสั่ง On หรือ Off ที่ Microsoft Defender Firewall เท่านั้น

                อย่างไรก็ตามการปิดการทำงานของ Microsoft Defender Firewall ก็จะทำให้เครื่องพีซีเสี่ยงต่อการเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต ฉะนั้นจึงควรทำเฉพาะเมื่อถึงเวลาจำเป็นจริงๆ หรือมี Firewall อื่นคอยทำหน้าที่แทนแล้วเท่านั้น
 

รันคำสั่งที่ไม่เข้าใจหรือไม่น่าเชื่อถือใน Command Prompt

                Command Prompt เป็นโปรแกรมในรูปแบบ Command-Line Interpreter หรือการรับคำสั่งภาษาสคริปต์เป็นข้อความเพื่อใช้สั่งการทำงานของเครื่องโดยตรง และไม่ว่าจะใช้ตรวจสอบข้อมูล แก้ปัญหา จัดการไฟล์หรือตั้งค่าการทำงานบางอย่าง ก็สามารถทำผ่าน Command Prompt ได้ทั้งนั้น อย่างไรก็ตามการสั่งการโดยส่วนใหญ่ก็มักจะต้องได้รับสิทธิในการเข้าถึงระดับผู้ดูแลระบบด้วย

                เนื่องจากการใช้สิทธิของผู้ดูแลระบบทำให้เข้าถึงข้อมูลและจัดการได้โดยไม่ถูกจำกัด ดังนั้นการรันคำสั่งต่างๆ จึงต้องทำอย่างระมัดระวัง โดยพยายามทำความเข้าใจกับคำสั่งให้ดีก่อนทุกครั้ง เพราะหากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น นั่นอาจหมายถึงการสูญเสียที่ไม่สามารถเรียกคืนได้เลย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลในไดรฟ์ บัญชีผู้ใช้ หรือว่าการตั้งค่าบางอย่างที่จะมีผลอย่างถาวร
 

ปิดโปรเซสหรือลบไฟล์ของวินโดวส์

                เมื่อเปิดเครื่องใช้งาน ภายในระบบปฏิบัติการ Windows จะมีการทำงานเบื้องหลังเกิดขึ้นมากมาย โดยสามารถตรวจดูโปรเซสที่เกิดขึ้นได้จาก Task Manager และถึงแม้ว่าผู้ใช้จะสามารถสั่งปิดการทำงานของโปรเซสได้ แต่ก็ไม่ควรทำโดยเฉพาะโปรเซสสำคัญๆ อย่างเช่น

                System (ntoskrnl.exe)

                Windows Logon Application (winlogon.exe)

                Windows Start-Up Application (wininit.exe)

                Client Server Runtime Process (csrss.exe)

                Windows Session Manager (smss.exe)

                Windows Shell Experience Host รวมไปถึง Windows Explorer (explorer.exe) เนื่องจากการปิดโปรเซสเหล่านี้อาจทำให้เครื่องมีปัญหาตามมาได้ แต่ถึงอย่างนั้นหลายๆ โปรเซสที่เกิดขึ้น Windows ก็ไม่ได้มีการป้องกันใดๆ ทำให้ผู้ใช้จะหยุดการทำงานได้ทุกเมื่อ แต่ก็ควรทำเฉพาะเมื่อถึงเวลาจำเป็นจริงๆ เท่านั้น เช่นเมื่อพบว่า โปรเซสนั้นใช้ทรัพยากรของเครื่องสูงผิดปกติ หรือเมื่อพบว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้โปรแกรมที่ใช้งานไม่ตอบสนอง
 

ติดตั้งโปรแกรมจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ

                ในขณะที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนมี Google Play Store, Apple App Store หรือ Huawei AppGallery เป็นแหล่งรวมแอปฯ และเกมต่างๆ ที่สามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้อย่างมั่นใจ แต่สำหรับเครื่องพีซี ผู้ใช้จะต้องเข้าเข้าไปดาวน์โหลดตามเว็บไซต์ต่างๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งอาจจะเป็นเว็บไซต์ของผู้พัฒนาโปรแกรมนั้นๆ เอง หรือไม่ก็เป็นเว็บไซต์ที่รวมโปรแกรมต่างๆ ไว้ให้ แต่ปัญหาก็คือถ้าเว็บไซต์นั้นไม่มีความน่าเชื่อถือ ไม่มีระบบคัดกรองที่ดีพอ หรือโปรแกรมที่มีให้ดาวน์โหลดนั้นไม่มีที่มาที่ชัดเจน ก็มีความเป็นไปได้ที่โปรแกรมที่ดาวน์โหลดจะมีไวรัสหรือมัลแวร์อื่นๆ แฝงตัวมาด้วย และถึงแม้ว่าภายในเครื่องจะมีโปรแกรมป้องกันมัลแวร์ คอยทำหน้าที่ตรวจจับและคัดกรอง แต่ก็ไม่ควรมั่นใจว่ามันจะป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์

                ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย จึงควรติดตั้งโปรแกรมที่ดาวน์โหลดจากแหล่งที่น่าเชื่อถือเท่านั้น อย่างเช่นเว็บไซต์ของผู้พัฒนา หรือถ้าเป็นโปรแกรมที่ใช้งานเชิงพาณิชย์ก็ควรซื้อของแท้ที่มีลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ก่อนจะใช้งานโปรแกรมใดๆ ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่า โปรแกรมนั้นมีผู้พัฒนาที่มีตัวตน เป็นที่ยอมรับและไว้ใจได้จริงๆ

 

                6 สิ่งข้างต้นนี้ แม้ว่าเราจะไม่ไปยุ่งกับมัน แต่ก็ใช่ว่าระบบปฏิบัติการ Windows หรือเครื่องพีซีที่เราใช้จะปลอดภัยหรือไม่มีปัญหา ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ก็ควรสร้าง Restore Point ขึ้นมาสำหรับคืนค่าให้ Windows กลับมาทำงานได้ตามปกติ นอกจากนี้ก็ควรสำรองข้อมูลระบบเป็นประจำ เพื่อเป็นหลักประกันว่า เราจะสามารถกู้คืนระบบได้อย่างสะดวกและทำได้ตลอดเวลา ไม่ต้องยุ่งยาก เสียเวลาติดตั้งใหม่เป็นวันๆ

 

รายละเอียดเพิ่มเติม...


SYNNEXPERIENCE