ตรวจดูได้ง่ายๆ ว่ามีใครกำลังแอบใช้ Wi-Fi ที่บ้านเราหรือเปล่า?

                เนื่องจาก Wi-Fi เป็นการเชื่อมต่อไร้สายที่มีระยะทำการที่ไกลพอสมควร อีกทั้งสัญญาณที่เราเตอร์ปล่อยออกมาให้อุปกรณ์ต่างๆ เชื่อมต่อก็กระจายเป็นวงกว้าง ดังนั้นสำหรับบ้านที่มีขนาดพื้นที่ไม่มากจึงมักจะใช้งานได้อย่างทั่วถึง แต่เพราะการเชื่อมต่อด้วยสัญญาณ Wi-Fi เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ดังนั้นถ้าไม่มีระบบการรักษาความปลอดภัยที่ดีพอ ผู้ที่ใช้งานก็อาจจะรวมถึงเพื่อนบ้านหรือผู้ที่อยู่รอบๆ บ้านด้วย

                แน่นอนว่าเมื่อมีผู้ใช้ Wi-Fi จำนวนมาก ความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต หรือการตอบสนองของแอปฯ ที่เราใช้ก็จะยิ่งช้าลง โดยเฉพาะหากมีผู้หนึ่งผู้ใด (หรือหลายคน) มีการรับส่งข้อมูลขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการดาวน์โหลดไฟล์ หรือว่ารับชมภาพยนตร์ความละเอียดสูง ดังนั้นจึงควรตรวจดูให้แน่ใจว่าเป็นผลมาจากอุปกรณ์ที่สมาชิกในบ้านกำลังใช้อยู่จริงๆ แต่ถ้าไม่ใช่ ก็จำเป็นต้องทำการตรวจสอบและจัดการแก้ไขเป็นการด่วน เพราะนั่นอาจเป็นไปได้ว่า เพื่อนบ้านกำลังแอบเชื่อมต่อใช้งานเครือข่าย Wi-Fi ของบ้านเราอยู่ ซึ่งอันตรายมาก เพราะนอกเหนือไปจากการที่เราถูกแย่งใช้อินเทอร์เน็ตแล้ว ยังมีความเป็นไปได้ที่เขาจะเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่เปิดแชร์ไว้ หรือปล่อยมัลแวร์เข้ามาในเครือข่าย Wi-Fi โดยที่เราไม่ทันรู้ตัว หรือที่มากไปกว่านั้นคือ หากเขามาใช้ Wi-Fi บ้านเราเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อทำสิ่งต่างๆ ที่ผิดกฎหมาย ก็อาจจะทำให้เราต้องรับเคราะห์ไปด้วย

                การสืบค้นเพื่อดูว่ามีใครกำลังใช้ Wi-Fi หรือมีอุปกรณ์อะไรกำลังเชื่อมต่ออยู่ อาจจะฟังดูว่าเป็นเรื่องยากเกินกว่าที่ผู้ใช้ทั่วไปจะทำได้ แต่มันก็มีวิธีที่คุณสามารถทำได้ง่ายๆ โดยเริ่มต้นจากการสังเกตไฟสถานะบนเราเตอร์ เมื่อปิดอุปกรณ์ต่างๆ ที่สมาชิกภายในบ้านใช้อยู่ให้หมด แต่ถ้าต้องการสืบค้นให้เฉพาะเจาะจงลงไปอีก ก็เลือกได้ถึง 3 วิธี

 

ตรวจดูอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อจากแอปฯ ในมือถือ

                น่าจะเป็นวิธีที่ทำได้สะดวกที่สุด และวันนี้ก็มีแอปฯ ให้เลือกใช้มากมาย อย่างเช่น Fing ซึ่งสามารถดาวน์โหลดใช้งานได้ฟรีทั้งจากที่ Google Play Store และ App Store (ถ้าเป็นระบบแอนด์ดรอยด์จะมีชื่อเต็มว่า Fing – Network Tools ส่วนระบบ iOS จะใช้ชื่อว่า Fing – Network Scanner) และการตรวจสอบอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ Wi-Fi โดยใช้แอปฯ บนมือถือนั้น ส่วนใหญ่ก็ทำได้ง่ายมากๆ เพราะอย่างเช่นในกรณีของแอปฯ Fing นั้นเพียงแค่เปิดแอปฯ ขึ้นมาแล้ว สั่งสแกนอุปกรณ์โดยแตะที่ปุ่ม Scan for devices ที่อยู่ในหัวข้อ CURRENT WI-FI เท่านั้น

                แอปฯ จะแสดงรายการอุปกรณ์ต่างๆ ที่กำลังเชื่อมต่อกับ Wi-Fi ขึ้นมาให้เราทราบ โดยมีการบอกประเภท หมายเลข IP Address และชื่อของอุปกรณ์ ซึ่งเราสามารถเตะที่รายชื่อเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ เพื่อตรวจดูให้แน่ใจว่าเป็นอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ภายในบ้านของเราจริงๆ

 

ตรวจสอบด้วยเครื่องพีซีหรือโน้ตบุ๊ก

                ถ้าคุณใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows แนะนำให้ดาวน์โหลดโปรแกรมที่ชื่อ Wireless Network Watcher จากหน้าเว็บไซต์ http://www.nirsoft.net/utils/wireless_network_watcher.html แล้วแตกไฟล์เก็บไว้ในเครื่อง (ดาวน์โหลดใช้งานฟรี โดยไฟล์ที่ดาวน์โหลดจะถูกบีบอัดอยู่ในรูปแบบ .Zip) จากนั้นดับเบิลคลิกที่ไฟล์โปรแกรมเมื่อต้องการตรวจดูอุปกรณ์ต่างๆ ที่เชื่อมต่ออยู่กับ Wi-Fi

                โปรแกรมจะสแกนเครือข่าย Wi-Fi เพื่อตรวจดูอุปกรณ์ต่างๆ ที่กำลังเชื่อมต่อ ซึ่งอาจจะใช้เวลาสักครู่หนึ่ง ขึ้นอยู่กับจำนวนอุปกรณ์ว่ามีมากน้อยขนาดไหน โดยสังเกตได้จากคำว่า Scanning ซึ่งจะหายไปหลังจากที่โปรแกรมสแกนเสร็จแล้ว และในหน้าต่างของโปรแกรมก็จะมีรายชื่อต่างๆ แสดงขึ้นมา ซึ่งรายชื่อเหล่านั้นก็คืออุปกรณ์ที่กำลังเชื่อมต่ออยู่กับ Wi-Fi ของบ้านเรานั่นเอง

                อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญหรือไม่คุ้นกับเรื่องไอทีก็อาจจะงงๆ กับผลลัพธ์ แต่ไม่ต้องกังวลหรือสนใจ เพราะเราสามารถดูได้ว่าอุปกรณ์ไหนเป็นของบ้านเราได้โดยดูที่ชื่อ Device Name หรือดูจากชื่อ Network Adapter Company หรือไม่เช่นนั้นก็อาจจะใช้วิธีตรวจสอบจากจำนวนอุปกรณ์ที่มีใช้งานก็ได้ว่า ถูกต้องตรงกับจำนวนที่โปรแกรมรายงานหรือไม่ หรือถ้าต้องการความมั่นใจ จะลองเปรียบเทียบกับการแอปฯ Fing บนมือถือด้วยก็ได้

 

ตรวจดูจากเมนูการตั้งค่าของเราเตอร์

                วิธีนี้อาจจะไม่สะดวกเหมือนกับวิธีอื่น แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำได้และเป็นทางเลือกที่ดี โดยเฉพาะถ้าคุณไม่ต้องการพึ่งความสามารถ หรือไม่อยากเสียเวลาดาวน์โหลดแอปฯ หรือโปรแกรมใดๆ จาก Third Party แต่อย่างไรก็ตามวิธีนี้ก็จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปตามผู้ผลิตหรือรุ่นของ Wi-Fi เราเตอร์ที่ใช้งาน แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็จะต้องเริ่มต้นด้วยการเปิดหน้า Login ด้วยเว็บบราวเซอร์ก่อนเสมอ (Edge, Chrome หรือ Firefox) ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นการเรียกผ่านหมายเลข IP Address 192.168.1.1 หรือ 192.168.0.1 หรือถ้าหากใช้อุปกรณ์ของ TP-Link ก็สามารถเรียกผ่าน http://tplinkwifi.net จากนั้นใส่รหัสผ่าน แล้ว Log in เข้าสู่เมนูการตั้งค่าได้เลย

                การตรวจดูอุปกรณ์ที่กำลังเชื่อมต่อ Wi-Fi จากเมนูการตั้งค่าเราเตอร์นี้ สำหรับเราเตอร์ของ TP-Link ให้ดูที่เมนู DHCP แล้วเลือก DHCP Clients List แต่อย่างไรก็ดีการจะเข้าถึงเมนูนี้ได้ก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนมุมมองให้เป็นแบบ Advanced ก่อน

 

ทราบแล้ว ป้องกันคนอื่นแอบใช้เป็นการด่วน

                ในกรณีที่คุณพบว่ามีอุปกรณ์ที่ไม่รู้จัก หรือเป็นอุปกรณ์ที่ไม่ใช่ของสมาชิกในบ้านเชื่อมต่อใช้งานอยู่ คุณไม่จำเป็นต้องตามหาให้เสียเวลา เนื่องจากคุณสามารถตัดการใช้งานของอุปกรณ์นั้นได้ เพียงแค่เปลี่ยนแปลงการตั้งค่าระบบการรักษาความปลอดภัยของเราเตอร์ใหม่ โดย Login เข้าไปที่หน้าการตั้งค่าของเราเตอร์ (เหมือนกับการตรวจดูอุปกรณ์ที่กำลังเชื่อมต่ออยู่) ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะอยู่ในหัวข้อ Wireless ของเราเตอร์ หรือไม่ก็อาจจะต้องเลือกจากเมนู Advanced ก่อน

                การที่มีผู้อื่นเข้ามาใช้งาน Wi-Fi ของเราได้ อาจเป็นไปได้ว่าการเชื่อมต่อ Wi-Fi ของบ้านเราไม่มีพาสเวิร์ดป้องกัน หรือไม่ก็อาจจะเป็นพาสเวิร์ดที่ถูกคาดเดาได้ง่าย ดังนั้นจึงควรเปลี่ยนพาสเวิร์ดใหม่ โดยพยายามให้มีหลายตัวอักษรและไม่เป็นคำที่มีความหมายเพื่อให้เดาไม่ถูก (และควรเปลี่ยนใหม่เป็นประจำทุก 1-2 เดือน) นอกจากนี้ที่หัวข้อมาตรฐานความปลอดภัยหรือ Security ให้กำหนดเป็น WAP/WPA2 และใช้วิธีการเข้ารหัสแบบ AES หรือถ้าเราเตอร์ที่ใช้เป็นรุ่นใหม่จริงๆ ก็สามารถกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยให้เป็น WAP2/ WPA3 ได้ เพียงแต่อาจจะต้องพิจารณาและทดสอบอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ด้วยว่า มันเข้ากันได้กับการตั้งค่านี้หรือไม่

                นอกจากนี้ให้ตรวจสอบให้แน่ใจด้วยว่าฟีเจอร์ WPS ของเราเตอร์ไม่ได้ถูกเปิดใช้งานอยู่ และถ้าต้องการให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่สมาชิกในบ้านได้ใช้งาน Wi-Fi ด้วย เช่นเมื่อมีแขก ญาติหรือเพื่อมาหาที่บ้าน ก็ควรสร้าง Guest-Network จาก Wi-Fi Router ขึ้นมาให้ใช้งาน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้พาสเวิร์ดสำหรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi ของบ้านต้องถูกเปิดเผยโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ก็อาจจะซ่อน SSID ที่เป็นชื่อของเน็ตเวิร์ก Wi-Fi ที่ทำการเชื่อมต่อ เพื่อไม่ให้ผู้อื่นหรือเพื่อนบ้านรู้ด้วยก็ได้ และถึงแม้มันจะป้องกันไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ทำให้ Wi-Fi ของบ้านเราปลอดภัยภัยขึ้น เพราะการตรวจหาชื่อ SSID ที่ถูกซ่อนเอาไว้ ส่วนใหญ่ก็มีแต่ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่ทราบวิธี

.
                อย่างไรก็ตามผลจากการเปลี่ยนแปลงการตั้งค่าที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากจะช่วยปิดกั้นการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ของผู้อื่นที่แอบใช้งานแล้ว อุปกรณ์ Wi-Fi ต่างๆ ภายในบ้านก็จะถูกปิดกั้นเช่นกัน ดังนั้นหลังจากที่ตั้งค่าใหม่แล้ว ก็ต้องให้อุปกรณ์ต่างๆ ของสมาชิกในบ้านเชื่อมต่อใช้งานใหม่อีกครั้งหนึ่งด้วย และเป็นเรื่องดีหากจะลองตรวจดูอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อใช้งานอีกรอบ เพื่อให้แน่ใจว่า Wi-Fi ของบ้านเราไม่มีคนนอกแอบมาใช้งานจริงๆ

 

รายละเอียดเพิ่มเติม...https://www.tp-link.com/th/


TRICKS & HOW TO