ไม่ว่าจะทำงาน เรียนหรือเพื่อความบันเทิง ในปัจจุบันเราต่างก็ต้องใช้สายตาจับจ้องอยู่กับหน้าจอเป็นเวลานาน และเมื่อทำซ้ำๆ ติดต่อกันเป็นประจำทุกวัน ภัยเงียบที่แฝงมากับการแสดงผลของหน้าจอก็พร้อมที่จะทำร้ายดวงตาของเราจนทำให้เกิดภาวะของโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม (Computer Vision Syndrome) เสมอ
ภาวะของโรคที่พบได้เป็นประจำก็คือ ตาแห้ง เมื่อยล้า ตาพร่ามัว ระคายเคืองตา เจ็บตา ตาแดง หรือบางครั้งก็อาจจะมีการปวดศีรษะรวมอยู่ด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้แม้ว่าจะไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่มันก็ทำให้เรารู้สึกไม่สบายตัวและส่งผลกับการใช้ชีวิตประจำวันพอสมควร
แต่เนื่องจากที่มาของอาการข้างต้นนั้นเกิดจาก การจ้องมองหน้าจอติดต่อกันเป็นเวลานาน ดังนั้นวิธีป้องกันจึงควรเริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในระหว่างที่กำลังใช้งานหน้าจอก่อน โดยพยายามพักสายตาเป็นระยะ ซึ่งอาจจะใช้กฏ 20-20-20 คือพักสายตาทุก 20 นาทีเป็นเวลา 20 วินาที โดยมองไปที่สิ่งอื่นที่อยู่ห่างออกไปเป็นระยะ 20 ฟุต หรือจะใช้วิธีพักสายตา 15 นาที ในทุกๆ 2 ชั่วโมงก็ได้ นอกจากนี้ควรพยายามกระพริบตาบ่อยๆ และปรับความสว่างของหน้าจอให้เหมาะหรือพอดีกับสภาพแสงที่อยู่โดยรอบ
ถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะกำลังสงสัยอยู่ว่า ทำไมการจ้องมองหน้าจอนานๆ จึงส่งผลกับดวงตาของเราขนาดนั้น?
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ ในระหว่างที่ใช้งานจอภาพ ดวงตาของเราจะต้องสู้กับแสงที่หน้าจอปล่อยออกมา และต้องปรับโฟกัสสายตาอยู่กับสิ่งที่อยู่บนหน้าจอตลอดเวลา นอกจากนั้นหากหน้าจอมีเงาสะท้อนมาคอยรบกวนการมองเห็น รวมไปถึงการที่ภาพบนหน้าจอมีการสั่นกระพริบ และปรับความสว่างหน้าจอไม่เหมาะสมกับสภาพแสงที่อยู่โดยรอบ ก็จะยิ่งทำให้ดวงตาต้องทำงานหนักขึ้นไปอีก ดังนั้นเมื่อต้องใช้จอภาพเป็นเวลานานๆ นอกจากจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นแล้ว การใช้จอภาพที่มีฟีเจอร์ถนอมสายตาก็เป็นวิธีที่ช่วยลดภาวะของโรค CVS ได้มากทีเดียว
ฟีเจอร์ถนอมสายตาเป็นสิ่งที่สามารถพบได้จากจอคอมพิวเตอร์แทบทุกแบรนด์ในปัจจุบัน โดยมีเทคโนโลยีพื้นฐานสำคัญอยู่ 3 แบบคือ การแสดงผลโดยที่ภาพบนหน้าจอไม่มีสั่นการพริบ การลดปริมาณแสงสีฟ้า และการปรับความสว่างให้สัมพันธ์กับสภาพแสงที่อยู่โดยรอบโดยอัตโนมัติ แต่อย่างไรก็ดีเทคโนโลยีแบบเดียวกันก็อาจจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปเท่านั้นเอง
Flicker-Free...ภาพบนหน้าจอไม่มีการสั่นกระพริบ
การสั่นกระพริบของภาพที่อยู่บนหน้าจอเป็นผลมาจากการควบคุมแสง Backlight (แสงที่ฉายออกมาบนหน้าจอ) ด้วยเทคนิค Pulse Width Modulation (PWM) ซึ่งการควบคุมนี้จะทำให้หลอด LED ที่เป็นแหล่งกำเนิดแสง Backlight ถูกปิด-เปิดตลอดเวลา โดยมีความถี่หรือช่วงเวลาที่สัมพันธ์กับความสว่าง (ปิด-เปิดเร็ว สว่างมาก ปิด-เปิดช้า สว่างน้อย) แต่เพราะการปิด-เปิดหลอด LED นี้จะทำอย่างรวดเร็วมาก ดังนั้นความผิดปกติที่เกิดขึ้นจึงมองเห็นได้ยากด้วยตาเปล่า แต่หากมองผ่านกล้องจะเห็นแถบเส้นแนวนอนสีดำปรากฎบนหน้าจอตลอดเวลา

การมองภาพบนหน้าจอที่มีการสั่นกระพริบจากการปิด-เปิดหลอด LED ในช่วงเวลาสั้นๆ นี้จะทำให้รูม่านตาของเรามีการหดตัวและขยายตัวตลอดเวลา โดยเฉพาะกับความถี่ในช่วงตั้งแต่ 100-400Hz (อ้างอิงจากผลการศึกษาของ Dial GmbH) ซึ่งผลที่ตามมาคือ ดวงตาจะเกิดการเมื่อยล้า ระคายเคือง และในกรณีของผู้ที่อ่อนไหว บางครั้งก็ยังอาจจะมีอาการเวียนศีรษะตามมาด้วย
เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น จอภาพจึงได้เปลี่ยนมาควบคุมแสง Backlight ด้วยการใช้วงจร Direct Current (DC) แทน PWM แบบเดิม ซึ่งวิธีนี้ทำให้หลอด LED ที่ทำหน้าที่เป็น Backlight ให้แสงได้อย่างคงที่ ไม่ต้องปิด-เปิดตลอดเวลา และไม่ว่าจะใช้ความสว่างระดับใดก็ตาม แสงบนหน้าจอก็จะไม่มีการกระพริบเลย ซึ่งจอภาพที่ใช้เทคโนโลยีนี้รู้จักกันดีในชื่อ Flicker-Free นั่นเอง

Low Blue Light…แสงสีฟ้าต่ำ สามารถลดปริมาณได้
แสงที่ตามองเห็นรวมทั้งแสง Backlight ที่ส่องออกมาบนหน้าจอจะมีความยาวคลื่นตั้งแต่ 420 จนถึง 780 นาโนเมตร ประกอบไปด้วยแสงสีแดง ส้ม เหลือง เขียว ฟ้า น้ำเงินและสีม่วง โดยแสงสีฟ้าที่มีความยาวคลื่นในช่วง 415-455 นาโนเมตร จัดเป็นคลื่นแสงที่เป็นอันตรายกับดวงตาของเรามากที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงคลื่นที่มีพลังงานสูง โดยหากดวงตาได้รับแสงนี้เป็นเวลานานๆ จะทำให้เกิดการปวดตา แสบตา และตาพร่ามัว อีกทั้งในระยะยาวก็ยังอาจจะนำไปสู่การเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมหรือโรคต้อกระจกด้วย

ดังนั้นเพื่อป้องกันอันตรายจากการได้รับแสงสีฟ้าที่ส่องออกมาบนหน้าจอ จอภาพจึงมักจะออกแบบให้มีฟิลเตอร์ช่วยคัดกรองหรือลดปริมาณแสงนี้ก่อนจะถูกส่งออกมา โดยสามารถเลือกระดับการกรองที่เหมาะสมกับการใช้งานได้เช่นลดสีฟ้า 30% สำหรับชมภาพยนตร์หรือ 50-70% สำหรับการอ่านหนังสือหรือเมื่อต้องทำงานกับเอกสารที่มีข้อความมากๆ (บางครั้งก็อยู่ในรูปแบบของ Read Mode) แต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือ ยิ่งกรองแสงสีฟ้าออกไปมากเท่าไร ภาพบนหน้าจอก็จะยิ่งมีสีเหลืองนวลมากเท่านั้น
Consistent Lighting…ปรับความสว่างให้สมดุลกับแสงโดยรอบ
ผู้เชี่ยวชาญมักจะแนะนำ ให้ปรับความสว่างของหน้าจอให้เหมาะกับแสงที่อยู่โดยรอบเสมอ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ดวงตาทำงานหนักจากการเพ่งมอง หรือต้องคอยปรับรูม่านตาให้เหมาะกับแสงบนหน้าจอ จนทำให้เกิดการปวดตาหรือตาพร่ามัวตามมา แต่เนื่องจากสภาพแสงโดยรอบเวลาที่เราใช้งานจอภาพนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เช่นแดดจัด ฝนตก หรือกลางวัน-กลางคืน ดังนั้นจึงทำให้เกิดความยุ่งยาก และแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้ความสว่างของหน้าจอเหมาะสมกับแสงโดยรอบตลอดเวลา เว้นเสียแต่ว่าเราใช้งานในสถานที่ปิดที่สามารถควบคุมแสงสว่างภายในห้องได้จริงๆ

เพื่อไม่ให้ดวงตาต้องทำงานหนักจากสถานการณ์เช่นนี้ จอภาพที่มีเทคโนโลยีถนอมสายตาบางรุ่น จึงออกแบบให้มีเซ็นเซอร์คอยตรวจวัดแสงที่อยู่โดยรอบ แล้วปรับความสว่างของหน้าจอให้เหมาะสมโดยอัตโนมัติ ดังนั้นผู้ใช้จึงมองภาพบนหน้าจอได้อย่างสบายตา ไม่ต้องกังวลและเสียเวลากับการปรับความสว่างของหน้าจอให้พอดีกับแสงโดยรอบอีกต่อไป
...นอกจากคุณสมบัติทั้ง3 อย่างนี้แล้วจอภาพที่มีเทคโนโลยีถนอมสายตาทั้งหลาย ก็มักจะใช้หน้าจอแบบ Anti-Glare ซึ่งหน้าจอแบบนี้จะมีการเคลือบผิวด้วยการใช้วัสดุแบบ Rough Matte เพื่อลดแสงสะท้อนที่คอยรบกวนสายตาเวลามองภาพบนหน้าจอ นอกจากนี้จอภาพจากบางผู้ผลิตอย่างเช่น EIZO ก็ยังมีคุณสมบัติ Circadian Dimming สำหรับช่วยปรับอุณหภูมิสีของจอภาพ โดยมีการลดแสงสีฟ้าบนหน้าจอให้สัมพันธ์กับช่วงเวลาที่เปลี่ยนไปในแต่ละวันอีก

เทคโนโลยีถนอมสายตาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะกับผู้ที่ต้องทำงานหรือมองหน้าจอเป็นเวลานานๆ และเพื่อสุขภาพอนามัยที่ดียิ่งขึ้น เวลาใช้งานก็ควรปรับตำแหน่งของหน้าจอให้เหมาะกับสรีระหรือสภาพการใช้งานของตัวเราเอง โดยคำนึงถึงหลักการยศาสตร์หรือ Ergonomics ด้วยเสมอ เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาการปวดเมื่อยตามร่างกายตามมาซ้ำเติมอีก