โครงการช่างนอกกรอบ ปีที่ 2 (ต่อเนื่อง ปี 2558-2560) - เสริมความรู้ คู่สร้างสรรค์ ปันสู่สังคม -
สืบเนื่องจากในปี 2557 “โครงการช่างนอกกรอบ” ได้ร่วมมือกับพันธมิตร 7 องค์กรหลัก โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ มุ่งที่จะแบ่งปันความรู้ทางด้านช่างเทคนิคและความรู้ทางด้านไอทีต่างๆ ให้กับคณะอาจารย์และนักศึกษาในสถาบันอาชีวศึกษา เพื่อที่จะให้คณะอาจารย์และนักศึกษาได้รับประสบการณ์และความรู้ทางด้านช่างเทคนิคเพื่อเติมโดยตรงจากผู้มีประสบการณ์ถึงวันนี้ จากความรู้ที่ได้รับการอบรมและเครื่องมือที่ได้รับมอบไป มิได้หยุดอยู่ที่นักศึกษาหรือสถานศึกษาที่ได้รับการอบรมเท่านั้น แต่ทักษะและความรู้ยังคงถูกส่งต่อไปยังชุมชน โดยผ่านทางโครงการ Fixit Center ซึ่งเป็นโครงการบริการชุมชนของสถาบันการอาชีวศึกษา จะนำเครื่องมือที่ได้รับไปบริการชุมชนต่อในการซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าตามหมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการ ยิ่งช่วยได้มากเท่าไร ก็จะช่วยลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยซึ่งอย่างน้อยก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยกันดูแลชุมชนให้เข้มแข็งและช่วยลดปัญหาด้านมลภาวะลงด้วย
เพื่อความต่อเนื่องของโครงการ ในปีที่ 2 จะมีแผนงานต่อเนื่องกันตั้งแต่ปี 2558 – 2560 ทางคณะทำงานจึงได้วางการดำเนินแผนงานระยะยาว โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะส่งมอบประสบการณ์และความรู้ไปให้กว้างที่สุดเพื่อประโยชน์ต่อเยาวชน สังคมชุมชน และประเทศชาติ โดยมีพันธมิตรหลัก ได้แก่ บมจ.ซินเน็ค, สำนักงานอาชีวะศึกษา และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ไอทีชั้นนำ เอซุส, อินเทล, ไมโครซอฟต์, ทีพี-ลิงค์ และเลอเมล ร่วมผลักดันเพื่อให้สัมฤทธิ์ผลต่อไป
นอกจากนี้ทางคณะทำงาน “ช่างนอกกรอบ” ได้มีแนวคิดที่จะจัดทำหลักสูตร e-learning โดยจะบรรจุเนื้อหาการเรียนการสอนที่เกี่ยวกับไอที เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการที่จะสร้างบทเรียนออนไลน์ ซึ่งจะรวบรวมผู้มีประสบการณ์ในด้านต่างๆเข้ามาช่วยกันออกแบบการเรียนรู้ออนไลน์ได้อย่างเหมาะสม เช่น หลักสูตรช่างเทคนิค , การตรวจวิเคราะห์ เป็นต้น เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาที่สนใจสามารถเข้าไปเรียนและเข้าวัดการทดสอบความรู้ความสามารถที่ได้เรียนไป เพื่อให้เป็นข้อมูลตัวกลางกลางสำหรับที่จะเป็นช่องทางให้กับผู้ประกอบการไอที สามารถค้นหา
นักเรียนนักศึกษาที่มีทักษะตรงตามความต้องการของแต่ละองค์กรได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นการตรวจสอบ ประเมินผลความต่อเนื่องของโครงการได้อีกทางหนึ่ง
โครงการ “ช่างนอกกรอบ” มุ่งเน้นโรงเรียนหรือสถาบันที่ได้รับการอบรมและเครื่องมือ จะมีการนำความรู้ที่ได้รับไปช่วยกันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นส่วนในการช่วยลดปัญหา E-waste, ช่วยเหลือสังคมผ่านกิจกรรมต่างๆของสถานศึกษา ตามเจตนารมณ์ของการจัดตั้งโครงการต่อไป
1.นักศึกษา – เยาวชน - ประชาชน
เพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ ให้กับนักเรียน นักศึกษา เยาวชนและประชาชนทั่วไป
2.ทรัพยากร – ชุมชน – สิ่งแวดล้อม
เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมและได้รับการถ่ายทอด ความรู้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่า ช่วยเหลือชุมชนใกล้เคียง และลดปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากขยะอิเล็กทรอนิกส์
3.พันธมิตร
เพื่อร่วมกันส่งเสริม สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญแบ่งปันประสบการณ์ความรู้ และการดำเนินกิจกรรมร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม อันจะก่อให้เกิดความร่วมมือทั้งในทางพันธมิตรทางธุรกิจและสังคมต่อไป
หลักเกณฑ์การคัดเลือกสถาบันร่วมโครงการ
1.เป็นสถาบันในสังกัดกรมอาชีวศึกษา / สถาบันการอาชีวศึกษา หรือสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีการจัดการเรียนการสอนสอดคล้องกับเนื้อหาที่ทำการอบรม
2.สถานศึกษาที่จะเข้าร่วมโครงการ ต้องมีการจัดโครงการช่วยเหลือชุมชนหรือมีโครงการด้าน “จิตสาธารณะ” สม่ำเสมอ
3.สถานศึกษานั้นๆขาดแคลน หรือต้องการอุปกรณ์สื่อการเรียนการสอนเครื่องมือในการเรียนการสอนที่จะทำการอบรม
4.สถานศึกษาที่จะเข้าร่วมโครงการ มีคณะอาจารย์และนักเรียนที่มีความตั้งใจในการรับการอบรม
5.คณะทำงานโครงการสามารถขอข้อมูล ติดตามประเมินผลได้ อีกทั้งสถานศึกษานั้นๆต้องทำการรักษาอุปกรณ์ที่ได้รับมอบได้อย่างเหมาะสม
6.การคัดเลือกสถานศึกษาใดๆในการเข้าร่วมโครงการ ให้ถือความเห็นของคณะทำงานเป็นที่สิ้นสุด
หัวข้อในการอบรม
ในการอบรมจะแบ่งผู้เข้ารับการอบรมเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอาจารย์ และ กลุ่มนักศึกษา ซึ่งกลุ่มอาจารย์จะเน้นการใช้งานเครื่องมือเพื่อสามารถนำไปสอนต่อ ส่วนกลุ่มนักศึกษาจะเป็นการรับฟังในส่วนของอัพเดทเทคโนโลยีทีและการทำเวิร์คช็อป จากวิทยากรของบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ไอทีชั้นนำ เอซุส, อินเทล, ไมโครซอฟต์, ทีพี-ลิงค์ ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เข้าร่วมสนับสนุนโครงการช่างนอกกรอบ
อาจารย์
การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่อถอดและติดตั้งอุปกรณ์ประเภท SMD
นักศึกษา
ช่วงเช้า - IT Update Tech & Trend
ช่วงบ่าย - กิจกรรมเวิร์คช็อปไอที
- PC Recovery
*หัวข้อเนื้อหาจะกำหนดตามความเหมาะสมของเวลา วิทยากร และนักศึกษา
ระยะเวลาและสถานที่ในการดำเนินโครงการ
ภายในระยะเวลา 3 ปี จะแบ่งกิจกรรมออกเป็น 8 ครั้ง และในแต่ละครั้งจะเชิญสถานศึกษาเข้าร่วมครั้งละ 6 สถาบัน รวม 3 ปี จะมีสถานศึกษาเข้าร่วมประมาณ 48 สถาบัน(ภาคผนวก ข.) โดยการดำเนินกิจกรรมจะใช้เวลาการดำเนินการ 1 ระยะเวลาในการเรียนการสอนจะเริ่มตั้งแต่ 08.30 – 16.00 น.
การติดตามและประเมินผลโครงการ
เพื่อให้โครงการ CSR ดังกล่าว ประสบผลสำเร็จตามที่ได้ตั้งใจไว้ ทางผู้จัดทำโครงการจะมีการติดตามผู้ที่เข้าร่วมการสัมนาโดยผ่านทางช่องทาง Social Network ที่จะมีการสร้างกลุ่มขึ้นมาเช่น Line Facebook เป็นต้น เพื่อที่จะเปิดเป็นพื้นที่ในการตอบข้อซักถามหรือข้อสงสัย หรือข้อแนะนำที่มีประโยชน์แก่น้องๆเพิ่มเติม
อีกทั้งทางโครงการจะร่วมมือกับสำนักความร่วมมือ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการที่จะร่วมกันติดตามและประเมินผลโครงการร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่ได้วางไว้ร่วมกัน
ทั้งนี้ทางโครงการ CSR ยังได้มีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการจัดทำเว็บไซต์เพื่อใช้เป็นห้องวัดและประเมินผลกับน้องๆที่เข้าร่วมโครงการในเร็วๆนี้ โดยให้น้องๆสามารถเข้ามาสอบเพื่อวัดระดับความรู้จากการที่ได้ผ่านการสัมนาและกลับไปฝึกฝนเพิ่มเติม และหากพร้อมแล้วก็สามารถเข้ามาสอบเพื่อวัดระดับต่อไป อีกทั้งเมื่อสอบผ่านเกณฑ์ทางคณะ CSR ก็จะมีการทำใบประกาศมอบให้ และจะมีการเก็บบันทึกประวัติผู้ที่เข้ามาร่วมโครงการและผู้ที่ผ่านการทดสอบในแต่ละระดับเอาไว้ด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่จะเป็นแรงกระตุ้นให้เยาวชนใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การวัดความสำเร็จของการดำเนินของโครงการฯ สามารถวัดได้จาก 3 ด้าน คือ
- ด้านจำนวนสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ – ในส่วนนี้จะสามารถรับทราบถึงความต้องการรับการเรียนการสอนในเบื้องต้น โดยสามารถดูได้จากจำนวนสถานศึกษาที่สมัคร จำนวนนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม และจากการทำใบประเมินผล
- ด้านความรู้ความสามารถของผู้เข้าร่วมโครงการ – ในส่วนนี้จะสามารถรับทราบถึงความต้องการเกี่ยวกับการเรียนการสอนในเบื้องต้นต่อสถานศึกษา ทั้งด้านความรู้และทักษะปฎิบัติ
- ด้านการนำไปช่วยเหลือชุมชน – การนำเครื่องมือ ประสบการณ์และความรู้ของสถาบัน ที่เข้าร่วมอบรม ไปช่วยเหลือชุมชนตามกิจกรรมต่างๆ ที่แต่ละสถาบันดำเนินการอยู่
ในการดำเนินโครงการฯ หากบรรลุตามวัตถุประสงค์ข้างต้น โครงการนี้จะทำให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง ทั้งต่อตัวผู้เข้าร่วมอบรม สถานศึกษา ชุมชน ภาคธุรกิจต่างๆ ซึ่งหากผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้และฝึกฝนตัวเองอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอก็จะส่งผลให้เกิดทักษะและความชำนาญ ซึ่งก็จะทำให้ช่วยตนเอง สังคมได้ต่อไป
เพื่อให้สามารถเข้าใจได้อย่างถูกต้องเหมาะสม สามารถแยกพิจารณาตามรายละเอียดได้ ดังนี้
นอกจากจะได้รับประสบการณ์โดยตรงจากคณะทำงานที่มีประสบการณ์ตรงจากการทำงานแล้ว ความรู้ที่ได้รับยังสามารถเป็นตัวช่วยให้ผู้เข้ารับการอบรมพัฒนาทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจได้ ซึ่งทำให้เกิดการได้เปรียบในการสมัครงานหรือการนำไปประกอบอาชีพอิสระ หรือช่วยเหลือผู้คนรอบข้างได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
สถานศึกษาที่ได้รับการคัดเลือก จะได้รับอุปกรณ์สือการเรียนการสอน ตามที่แจ้งไว้ในส่วนของภาคผนวก ก. ซึ่งสามารถนำไปเป็นเครื่องมือหรือวิทยาทานให้กับนักเรียนในรุ่นต่อๆไป รวมไปถึงการที่จะมีความสามารถยิ่งขึ้นในการช่วยเหลือชุมชนต่อไปได้
- ชุมชน/สิ่งแวดล้อม
-
นอกจากความรู้ที่ทางผู้เข้าร่วมอบรมจะได้รับแล้ว ประสบการณ์เหล่านี้ยังสามารถนำไปช่วยเหลือชุมชนต่อไปได้อีก อย่างกรณีของโครงการ Fixit Center ของสถาบันอาชีวะศึกษา ก็สามารถนำเครื่องมือที่ไดรับไปบริการชุมชนต่อในการซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าตามบ้านเรือนที่การออกโครงการได้ ยิ่งช่วยได้มากเท่าไหร่ ก็จะช่วยลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งอย่างน้อยก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยกันดูแลชุมชนให้เข้มแข็ง และช่วยลดมลภาวะของโลกลดลงด้วย
- องค์กรและพันธมิตรโครงการ
-
สิ่งที่องค์กรจะได้รับ จะเป็นในเรื่องของความภาคภูมิใจในการได้มีส่วนช่วยให้สังคมมีความเข้มแข็งและน่าอยู่มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการฝึกให้พนักงานขององค์กร รู้จักการมี “จิตอาสา” ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าความรู้เลย ซึ่งการมีจิตอาสาที่ดีจะมีส่วนช่วยให้พนักงานในระดับต่างๆช่วยเหลือกันได้มากยิ่งขึ้น และยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการที่จะสร้าง Value chain ในภาคส่วนของกลุ่มธุรกิจ IT ให้เกิดขึ้นได้จริง รวมถึงทำให้องค์กรเป็นที่รู้จักต่อคนทั่วไปมากยิ่งขึ้น
- ภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรม
- ทักษะหรือความรู้ที่ได้รับจากโครงการ จะช่วยส่งผลดีต่อภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี เพราะโครงการดังกล่าว เป็นการเสริมนอกหลักสูตรของนักศึกษา ซึ่งทักษะดังกล่าวเมื่อ
-
เวลาไปทำงานแล้ว จะช่วยลดเวลาในการเทรนงานลงหรือสามารถที่จะช่วยเหลือตนเองได้ในเบื้องต้น ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการสอนงานต่างๆลงไปได้นั่นเอง
ผู้สนับสนุนโครงการช่างนอกกรอบประจำปี พ.ศ. 2558-2560
บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) http://www.synnex.co.th/
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา http://www.vec.go.th/
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย http://www.fti.or.th/
Asustek Computer (Thailand) Co., Ltd. https://www.asus.com/th/
Intel Microelectronics (Thailand) Ltd. http://www.thailand.intel.com/
Microsoft (Thailand) Ltd. https://www.microsoft.com/th-th/
TP-LINK Enterprises (Thailand) Co.,Ltd. http://www.tp-link.co.th/
LEMEL COMPUTER http://www.lemelweb.com/